ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ออกคำสั่งให้ส่งทหารเกือบ 3,000 นายไปยังโปแลนด์และโรมาเนียเพื่อเสริมการป้องกันยุโรปตะวันออก เผื่อกรณีความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับโลกตะวันตกกรณีวิกฤติยูเครนบานปลาย รัฐมนตรีรัสเซียจวกสหรัฐเดินเกมทำลายล้างเพิ่มความตึงเครียดทางทหารลดโอกาสทางการเมือง
รายงานของรอยเตอร์และเอเอฟพีเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 กล่าวว่า การตัดสินใจของสหรัฐมีออกมาหลังจากรัสเซียยังคงยืนกรานปฏิเสธจะถอนกำลังทหารกว่า 100,000 นายออกจากชายแดนยูเครน
"ตราบใดที่เขา (ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน) ยังคงทำตัวก้าวร้าว เราก็จะทำให้แน่ใจว่า เราสามารถสร้างความมั่นใจต่อพันธมิตรร่วมนาโตของเราในยุโรปตะวันออกว่าเราอยู่ที่นั่น" ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ กล่าวภายหลังคำประกาศวางกำลังทหารอเมริกันเพิ่มเติมในยุโรปตะวันออก
กระทรวงกลาโหมสหรัฐกล่าวว่า กองทัพสหรัฐจะส่งกองทหารหน่วยสไตรเกอร์ประมาณ 1,000 นายที่ประจำฐานทัพในเมืองวิลเซ็กของเยอรมนีไปวางกำลังที่โรมาเนีย ส่วนทหารอีกราว 1,700 นาย ส่วนใหญ่จากกองพลส่งทางอากาศที่ 82 จากฟอร์ตแบร็กก์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา จะถูกส่งไปวางกำลังที่โปแลนด์ อีก 300 นายจากฟอร์ตแบร็กก์จะถูกส่งไปเสริมที่เยอรมนี
จอห์น เคอร์บี โฆษกเพนตากอน กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการเสริมกำลังทหารในยุโรปตะวันออกครั้งนี้เพื่อส่ง "สัญญาณที่หนักแน่น" ถึงปูติน และบอกต่อโลกตรงๆ ว่า นาโตมีความสำคัญต่อสหรัฐ และมีความสำคัญต่อพันธมิตรของเรา เรารู้ว่าปูตินหงุดหงิดกับนาโต เกี่ยวกับเรื่องนาโต เขาไม่เคยปิดบัง เราจึงทำให้ชัดเจนว่า เรากำลังเตรียมพร้อมที่จะปกป้องพันธมิตรของนาโต หากถึงเวลา แต่หวังว่าจะไม่ถึงเวลานั้น
เขาย้ำด้วยว่า การเคลื่อนไหวด้านกำลังพลของสหรัฐเพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นต่อนาโต และสหรัฐจะไม่ส่งทหารไปสู้รบในยูเครน ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกของนาโต
รัฐมนตรีกลาโหม มาริอุสซ์ บลาซแช็ก ของโปแลนด์ กล่าวว่า การวางกำลังทหารเพิ่มเติมของสหรัฐเป็นสัญญาณหนักแน่นของความสามัคคี ส่วนเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต ยินดีกับการตัดสินใจของสหรัฐ โดยกล่าวว่าการตอบสนองของนาโตต่อรัสเซียเป็นไปในเชิงป้องกันและสมน้ำสมเนื้อ
ด้านอเล็กซานเดอร์ กรุชโก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย ตอบโต้ว่า การดำเนินการของสหรัฐจะทำให้การประนีประนอมระหว่างสองฝ่ายทำได้ยากขึ้น การวางกำลังของสหรัฐเป็น "ก้าวย่างที่ทำลายล้าง ที่เพิ่มความตึงเครียดทางทหารและลดขอบเขตสำหรับการตัดสินใจทางการเมือง"
การตัดสินใจของสหรัฐเกิดในช่วงยามที่หลายชาติตะวันตกดำเนินความพยายามทางการทูตอย่างเคร่งเครียด ควบคู่กับการขู่คว่ำบาตรบุคคลวงในของปูติน เพื่อยับยั้งแผนการรุกรานยูเครนตามที่โลกตะวันตกกำลังหวั่นเกรงกัน แม้ว่ารัสเซียจะปฏิเสธเสียงแข็งก็ตาม
เมื่อวันพุธ นายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ ของเยอรมนี ประกาศว่า เขาจะเดินทางไปกรุงมอสโกเพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤตินี้ ขณะที่ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส เผยว่าเขาอาจเดินทางไปมอสโกเช่นกัน ขึ้นอยู่กับผลการเจรจากับผู้นำประเทศอื่นๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น
มาครงคุยโทรศัพท์กับไบเดนเมื่อวันพุธ โดยผู้นำทั้งสองให้คำมั่นว่าจะตอบสนองต่อวิกฤตินี้อย่างสอดประสานกัน สำนักงานของมาครงเผยด้วยว่า เขาจะสนทนากับปูตินอีกรอบในวันพฤหัสบดี
เมื่อวันอังคาร ปูตินเพิ่งกล่าวโทษสหรัฐและนาโตว่ากำลังพยายามจำกัดวงรัสเซียด้วยการวางกำลังทหารและอาวุธทางยุทธศาสตร์ใกล้ชายแดนรัสเซีย และยูเครนเป็นแค่เครื่องมือหนึ่งเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น
ผู้นำรัสเซียต้องการหลักประกันว่า ยูเครนจะไม่เข้าเป็นสมาชิกนาโต ทั้งยังต้องการให้นาโตและสหรัฐยกเลิกการวางกำลังระบบมิสไซล์ใกล้ชายแดนยูเครนและถอนทหารนาโตออกจากยุโรปตะวันออก ขณะเดียวกัน เขายังเปิดทางสำหรับการเจรจา โดยกล่าวว่ากำลังศึกษาข้อเสนอของตะวันตกที่เกี่ยวกับข้อเรียกร้องของรัสเซียเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งเขาหวังว่าจะ "สุดท้ายแล้วเราจะพบทางออก"
ปูตินได้สนทนาทางโทรศัพท์กับนายกฯ บอริส จอห์นสัน ของอังกฤษด้วยเมื่อวันพุธ โดยเขาตั้งข้อสังเกตถึงความไม่เต็มใจของนาโตที่จะตอบสนองต่อความห่วงกังวลของรัสเซียเท่าที่ควร
รัฐบาลรัสเซียยังอ้างเมื่อวันพุธด้วยว่า จีนให้การสนับสนุนรัสเซียในการคุมเชิงครั้งนี้ โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะแสดงให้เห็นการสนับสนุนของจีนเมื่อได้พบกับประธานาธิบดีปูตินที่กรุงปักกิ่งวันศุกร์นี้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ของขวัญจากรัสเซีย ถึง 'คิม จอง อึน'
เริ่มจากเกาหลีเหนือส่งทหารไปสนับสนุนแนวรบของรัสเซียก่อน จากนั้นมอสโกจึงส่งมอบของขวัญพิเศษตอบแทนเปีย
รัสเซีย ขัดขวางมติหยุดยิงของยูเอ็นในซูดาน
นายพลสองคนซึ่งเป็นคู่แข่งแย่งชิงอำนาจ ต่อสู้กันในซูดานมาเป็นเวลาหนึ่งปีครึ่งแล้ว ขณะนี้รัฐมนตรีความมั่นคงแห่งสห