ผ่านเส้นตายการเสนอชื่อผู้ชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2565 เผยสมาชิกรัฐสภาและอาจารย์มหาวิทยาลัยในนอร์เวย์เสนอชื่อรัฐบาลเงาเมียนมาและขบวนการอารยะขัดขืนเข้าชิงด้วย บุคคลอื่นรวมถึงผู้นำฝ่ายค้านเบลารุส, โป๊ปฟรานซิส และเกรียตา ทุนแบร์ย
รายงานเอเอฟพีเมื่อวันพุธที่ 2 มกราคม 2565 กล่าวว่า การเสนอชื่อผู้เข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปีนี้หมดเขตลงเมื่อวันที่ 31 มกราคม โดยผู้มีคุณสมบัติที่จะเสนอชื่อผู้เข้าชิงได้ซึ่งมีจำนวนหลายพันคนจากทั่วโลก รวมถึงสมาชิกรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีของทุกประเทศ, อดีตผู้ชนะรางวัลโนเบล และอาจารย์มหาวิทยาลัยบางแห่ง สามารถเปิดเผยได้ว่าพวกเขาเสนอชื่อใคร แต่รายชื่อฉบับสมบูรณ์นั้นจะถูกเก็บเป็นความลับนาน 50 ปีตามกฎของโนเบล
สมาชิกทั้งห้าของคณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลของนอร์เวย์ก็สามารถเสนอชื่อผู้ที่ตนเห็นว่าสมควรได้รับรางวัลนี้ได้เช่นกันระหว่างการประชุมนัดแรกในปีนี้ วันที่ 4 มีนาคม
เอเอฟพีกล่าวว่า ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อชิงโนเบลสันติภาพปีนี้รวมถึงรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (เอ็นยูจี) ของเมียนมา ซึ่งโอลา เอลเวสตืน ส.ส.พรรคเสรีนิยมในสภาผู้แทนราษฎรนอร์เวย์ เปิดเผยเมื่อวันอังคารว่า เขาเสนอชื่อรัฐบาลเงาของเมียนมาชิงรางวัลนี้ "นี่คือรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายรัฐบาลเดียวในเมียนมา" เขากล่าวกับเอเอฟพี
เอ็นยูจีก่อตั้งเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว โดยรวบรวมทั้งอดีต ส.ส.ที่อยู่ระหว่างหลบซ่อนตัวหรือลี้ภัย หลายคนเป็นสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของนางอองซาน ซูจี
นอกจากนี้ ขบวนการอารยะขัดขืนของเมียนมาก็ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงโดยอาจารย์มหาวิทยาลัยของนอร์เวย์คนหนึ่ง
มีอีกหลายบุคคลที่เชื่อกันว่าได้รับการเสนอชื่ออีกในปีนี้ ซึ่งเป็นผู้ที่เคยถูกเสนอชื่อมานานหลายปี ซึ่งรวมถึง สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, เกรียตา ทุนแบร์ย นักเคลื่อนไหวต่อสู้ภาวะโลกร้อนชาวสวีเดน และเดวิด แอตเทนเบอเรอห์ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชาวอังกฤษที่ได้รับการเสนอชื่อพร้อมกับคณะผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพขององค์การสหประชาชาติ
สเวตลานา ตีคานอฟสกายา ผู้นำฝ่ายค้านหญิงของเบลารุส ได้รับการเสนอชื่อโดยสถาบันวิจัยสันติภาพออสโล (PRIO) ซึ่งกล่าวว่า เธอเป็นผู้นำการท้าทายแบบอหิงสาต่อประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก และทางการเบลารุส ทั้งโดยเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งที่ยุติธรรม และยุติความรุนแรงต่อผู้ที่แสดงการต่อต้านการล่วงละเมิดของระบอบปัจจุบัน
ส.ส.นอร์เวย์อีกคน คือกูรี เมลบี โพสต์ทวิตเตอร์ว่า เขาเสนอชื่อรัฐมนตรีต่างประเทศ ไซมอน โคเฟ ของตูวาลู ที่เป็นข่าวดังเมื่อเขาแสดงสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมภาวะโลกร้อน ค็อป 26 โดยยืนอยู่กลางน้ำทะเลที่สูงระดับหัวเข่า
ชื่ออื่นๆ ที่สื่อของนอร์เวย์เอ่ยถึง ยังมีอาทิ สภาอาร์กติก, วิกิลีกส์, เชลซี แมนนิง ผู้เปิดโปงเอกสารลับของสหรัฐ, มาซีห์ อาลีเนญาด นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีชาวอิหร่านที่รณรงค์คัดค้านการบังคับคลุมฮิญาบ และองค์การนาโต นอกจากนี้ บุคคลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ด้านสาธารณสุขในช่วงเวลาที่โลกกำลังเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ก็น่าจะได้รับการเสนอชื่อด้วย
คณะกรรมการโนเบลสันติภาพจะประกาศชื่อผู้ชนะในเดือนตุลาคมที่กรุงออสโล โดยปีที่ผ่านมาผู้ได้รับรางวัลนี้ได้แก่ ผู้สื่อข่าว 2 คนที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสาร คือมาเรีย เรสซา ชาวฟิลิปปินส์ และดมิตรี มูราตอฟ ชาวรัสเซีย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เมียนมาขู่จำคุกผู้ซื้อ 'พันธบัตรปฏิวัติ' ของรัฐบาลเงา
รัฐบาลเมียนมาขู่จะจับกุมพลเมืองที่ลงทุนในพันธบัตรออกโดยรัฐบาลเงา ระบุการซื้อพันธบัตรปฏิวัติถือเป็นการให้ทุนสนับสนุนผู้ก่อการร้าย ซึ่งจะถูกลงโทษจำคุกนานหลายปี
รบ.เงาเมียนมาคุย ขายพันธบัตรระดมทุนปฏิวัติได้แล้ว 208 ล้าน
รัฐบาลเงาของเมียนมาคุยว่า สามารถระดมเงินได้ถึง 208.4 ล้านบาท จากการขายพันธบัตรวันแรก สำหรับใช้เป็นทุนสนับสนุน "การปฏิวัติ" โค่นล้มระบอบทหาร
'มิน อ่อง หล่าย'เหน็บอาเซียนดูด้วยฝ่ายไหนยั่วยุก่อความรุนแรง
พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ระบุรัฐบาลเมียนมายึดมั่นต่อการฟื้นฟูประชาธิปไตย ชี้อาเซียนควรพิจารณาการยั่วยุและความรุนแรงที่ฝ่ายค้านก่อขึ้นด้วย