'ปูติน' จวกสหรัฐพยายามลากรัสเซียเข้าสู่สงคราม

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน กล่าวหาสหรัฐและโลกตะวันตกว่า จงใจสร้างสถานการณ์เพื่อลากรัสเซียเข้าสู่สงคราม โดยไม่นำพาต่อความกังวลใจด้านความมั่นคงของรัสเซียกรณียูเครน ที่หวังจะเข้าเป็นสมาชิกนาโต

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ขณะแถลงข่าวร่วมกับนายกฯ วิกตอร์ ออร์บาน ของฮังการี ที่กรุงมอสโก เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2565 (Photo by YURI KOCHETKOV / POOL / AFP)

รายงานรอยเตอร์เมื่อวันพุธที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 กล่าวว่า ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียเปิดเผยทัศนะของเขาเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 6 สัปดาห์ เกี่ยวกับวิกฤติที่สืบเนื่องจากการวางกำลังทหารมากกว่า 100,000 นายพร้อมยุทโธปกรณ์ตามแนวชายแดนยูเครน ที่ทำให้สหรัฐและนาโตกล่าวหารัสเซียว่ากำลังเตรียมการรุกรานเพื่อนบ้านที่เป็นอดีตสมาชิกสหภาพโซเวียตแห่งนี้ แต่รัสเซียยืนกรานปฏิเสธ

ผู้นำรัสเซียไม่มีทีท่าว่าจะยอมทำตามข้อเรียกร้องของตะวันตกที่ให้เขาถอนกำลังทหารพ้นจากชายแดน โดยกล่าวว่า "เห็นได้ชัดเจนแล้วว่า ความห่วงกังวลพื้นฐานของรัสเซียถูกเพิกเฉย" ปูตินกล่าวระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับนายกฯ วิกตอร์ ออร์บาน ของฮังการี ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกนาโตที่พยายามเป็นสะพานเชื่อมความปรองดอง

รัสเซียมีความกังวลว่านาโตจะรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก และต้องการหลักประกันจากโลกตะวันตก แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง ปูตินกล่าวถึงสถานการณ์ที่อาจเป็นไปได้ หากนาโตยอมรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก แล้วพยายามจะทวงคืนคาบสมุทรไครเมีย ที่รัสเซียผนวกดินแดนเป็นของตนเมื่อปี 2557

"ลองจินตนาการดูว่า หากยูเครนเป็นสมาชิกนาโตและเริ่มปฏิบัติการทางทหารเหล่านี้ เราควรจะทำสงครามกับกลุ่มนาโตหรือไม่? มีใครคิดถึงเรื่องนี้บ้างไหม? ชัดเจนว่าไม่มี" ปูตินกล่าว

เซอร์เกย์ ลัฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซีย กล่าวว่า รัสเซียต้องการให้ตะวันตกเคารพข้อตกลงปี 2562 ที่ว่า ไม่มีประเทศใดสามารถเสริมสร้างความมั่นคงของตนเองโดยแลกกับความมั่นคงของประเทศอื่น ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของวิกฤติครั้งนี้

ระหว่างการสนทนาทางโทรศัพท์กับแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ลัฟรอฟได้กล่าวถึงกฎบัตรที่ลงนามไว้กับสมาชิกองค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป ที่นครอิสตันบูลของตุรกี ซึ่งสหรัฐและแคนาดาร่วมลงนามด้วย โดยเขาบอกว่า บลิงเคนยอมรับถึงความจำเป็นในการหารือประเด็นนี้เพิ่มเติม

อย่างไรก็ดี ข่าวจากทางสหรัฐกลับระบุว่า สหรัฐเน้นถึงความจำเป็นที่รัสเซียต้องถอนทหารออกจากชายแดนยูเครน "ท่านรัฐมนตรีได้แจ้งต่อรัฐมนตรีต่างประเทศลัฟรอฟไปว่า หากประธานาธิบดีปูตินไม่มีเจตนาทำสงครามหรือเปลี่ยนแปลงระบอบจริงๆ ขณะนี้ก็ถึงเวลาที่จะถอนทหารและอาวุธหนัก แล้วเข้าร่วมในการหารืออย่างจริงจัง" เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ ถึงสหรัฐ เตรียมประชุมเอกอัครราชทูต-กงสุลใหญ่ หารือภาคธุรกิจ

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.การต่างประเทศ เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา