ชี้ 'โอมิครอนล่องหน' แพร่เชื้อง่ายกว่าสายพันธุ์ย่อย 'ดั้งเดิม'

ผลการศึกษาของเดนมาร์ก ที่สายพันธุ์ย่อย BA.2 ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์โอมิครอน กำลังแพร่ระบาดมากกว่าสายพันธุ์อื่น ชี้ว่าสายพันธุ์ย่อยที่เรียกกันว่า "โอมิครอนล่องหน" นี้สามารถแพร่เชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ย่อยดั้งเดิมถึง 33% โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน

Getty Images

รอยเตอร์และเอเอฟพีรายงานเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนถูกตรวจพบครั้งแรกที่แอฟริกาใต้เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว และขณะนี้กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดทั่วโลกแทนที่สายพันธุ์เดลตา โดยสายพันธุ์ย่อย BA.1 คิดเป็นมากกว่า 98% ของการติดเชื้อโอมิครอนทั่วโลก แต่ในเดนมาร์ก สายพันธุ์ย่อย BA.2 ที่พบเมื่อต้นปีนี้และถูกเรียกว่า "โอมิครอนล่องหน" กลายเป็นสายพันธุ์ย่อยหลักที่พบมากที่สุดในประเทศนี้นับตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคม

BA.2 พบในสหรัฐ, อังกฤษ, สวีเดน และนอร์เวย์ ด้วยเช่นกัน แต่ยังไม่มีสัดส่วนมากเท่าของเดนมาร์ก

ผลการศึกษาจากเดนมาร์ก โดยนักวิจัยจากสถาบันเซรุ่มสเทเทนส์ (เอสเอสไอ), มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน, การสถิติเดนมาร์ก และมหาวิทยาลัยเทคนิคเดนมาร์ก ทำการเก็บข้อมูลของผู้คนมากกว่า 18,000 คนจากมากกว่า 8,500 ครัวเรือน ระหว่างวันที่ 20 ธันวาคม ถึง 18 มกราคม เพื่อเปรียบเทียบการติดเชื้อของโอมิครอนสองสายพันธุ์ย่อยนี้ และพบว่า ผู้ที่ติดเชื้อ BA.2 มีโอกาสแพร่เชื้อต่อผู้อื่นมากกว่า 33%

นักวิจัยคณะนี้กล่าวว่า พวกเขาได้ข้อสรุปว่าโอมิครอน BA.2 สามารถแพร่เชื้อได้ง่ายกว่า BA.1 และยังมีคุณสมบัติในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่ลดประสิทธิภาพในการป้องกันของวัคซีนต่อการติดเชื้อมากกว่าด้วย

เอสเอสไอกล่าวในผลการศึกษาว่า ผู้ที่ติดเชื้อ BA.2 มีโอกาสแพร่เชื้อสู่คนอื่นในบ้าน 39% ภายใน 1 สัปดาห์ ขณะที่ BA.1 มีโอกาสแพร่เชื้อ 29%

ดร.คามิลลา โฮลเทน โมลเลอร์ จากเอสเอสไอ กล่าวว่า BA.2 มีโอกาสแพร่เชื้อติดผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนมากกว่า BA.1 กลับกัน ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ฉีดโดสกระตุ้น มีโอกาสที่จะติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ย่อยนี้น้อยลง

วันอังคาร เดนมาร์กกลายเป็นประเทศแรกในสหภาพยุโรป (อียู) ที่ยกเลิกข้อจำกัดด้านไวรัสทั้งหมด ถึงแม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะยังคงสูงเป็นสถิติอยู่ก็ตาม โดยทางการเดนมาร์กอ้างว่าอัตราการฉีดวัคซีนในประเทศมีสูงและสายพันธุ์โอมิครอนมีความรุนแรงน้อยกว่า.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดข้อมูล ‘ไวรัสโควิด’ สร้างได้ในห้องทดลอง มีจดสิทธิบัตรตั้งแต่ปี 2018

การสร้างไวรัสใหม่ชนิดนี้จะสามารถครอบคลุมไวรัสที่จะแพร่และเกิดโรคระบาดในมนุษย์ได้ทั้งสิ้น และสามารถที่จะสร้างวัคซีนให้มนุษย์ก่อนได้

ศูนย์จีโนมฯ จับตาโอมิครอน KP.2.3/XEC ลูกผสมพันธุ์ใหม่ แพร่เร็วกว่าเดิม 2 เท่า

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โอมิครอน KP.2.3/XEC : ลูกผสมสายพันธุ์ใหม่แพร่เร็วกว่าเดิม 2 เท่า