ชาวเมียนมา 'สไตรค์เงียบ' ประท้วงครบ 1 ปีรัฐประหาร

ชาวเมียนมาประท้วงในวันครบรอบ 1 ปีทหารก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลนางอองซาน ซูจี เมื่อวันอังคาร ด้วยการ "สไตรค์เงียบ" ในหลายเมือง ประชาชนเก็บตัวอยู่บ้านและธุรกิจร้านค้าหยุดกิจการ ขณะสหรัฐและพันธมิตรคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ฝ่ายตุลาการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีซูจีเพิ่มอีก

ถนนสู่เจดีย์ชเวดากองในนครย่างกุ้งแทบร้างเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2565 ระหว่างการสไตรค์เงียบในวันครบรอบ 1 ปีรัฐประหารเมียนมา (Photo by Santosh Sithu/Anadolu Agency via Getty Images)

รายงานรอยเตอร์และเอเอฟพีเมื่อวันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 1 ปีที่ทหารเมียนมาก่อรัฐประหาร กล่าวว่า ชาวเมียนมาในหลายเมืองร่วมกันแสดงออกซึ่งการท้าทายรัฐบาลทหารอย่างเงียบๆ โดยเก็บตัวอยู่ในบ้าน ส่วนธุรกิจร้านค้าหยุดกิจการ 1 วัน ถึงแม้วันก่อนหน้านี้ ทางการเมียนมาจะขู่ยึดทรัพย์สินและกิจการที่ร่วมประท้วงตามเสียงเรียกร้องของพวกนักเคลื่อนไหว รวมถึงเตือนว่าจะดำเนินคดีกับผู้ที่ประท้วงหรือเผยแพร่ "โฆษณาชวนเชื่อ" ต่อต้านทหาร ในข้อหากบฏหรือก่อการร้าย

หนังสือพิมพ์เมียนมาอลิน สื่อของทางการ รายงานว่า รัฐบาลทหารพยายามขัดขวางการต่อต้านเนื่องในวันครบรอบด้วยการจับกุมผู้คนมากกว่า 70 รายในช่วง 3 วันก่อนหน้านี้ ฐานสนับสนุนกิจกรรมทางโซเชียลมีเดีย

"เราอาจถูกจับกุมและติดคุกตลอดชีวิต ถ้าเราโชคดี แต่เราอาจถูกทรมานและฆ่าทิ้ง ถ้าเราโชคร้าย" นัน ลิน นักเคลื่อนไหววัยเยาวชน กล่าว

ภาพถ่ายที่เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียเมื่อวันอังคารเผยให้เห็นว่า ท้องถนนในหลายเมือง รวมถึงย่างกุ้ง, มัณฑะเลย์, มาเกว และมิตจีนา แทบร้างผู้คนและยวดยานสัญจร ที่นครย่างกุ้ง มีภาพถ่ายในเพจโซเชียลมีเดียของกลุ่มจัดการสไตรค์เงียบ เผยภาพของการประท้วงขนาดเล็กๆ ที่ผู้คนปาสีแดงลงบนพื้น

สื่อท้องถิ่นยังเผยแพร่ภาพของแฟลชม็อบที่ย่างกุ้งและมัณฑะเลย์เมื่อเช้าวันอังคาร ที่ผู้ประท้วงกางป้ายข้อความสนับสนุนประชาธิปไตยและจุดพลุแฟลร์

ผู้สื่อข่าวของเอเอฟพีในย่างกุ้งกล่าวว่า ท้องถนนในเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจแห่งนี้เริ่มว่างเปล่าเมื่อเวลา 10.00 น. สภาพของการสไตรค์เงียบแบบเดียวกันยังปรากฏที่เมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับสองของเมียนมา และที่เขตตะนาวศรีในภาคใต้ด้วย ต่อมาในเวลา 16.00 น. ชาวบ้านในหลายชุมชนของย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ พากันปรบมืออย่างพร้อมเพรียง เพื่อแสดงถึงการสิ้นสุดการสไตรค์เงียบของพวกเขา

อีกด้านหนึ่ง สื่อที่หนุนหลังทหารก็เผยแพร่ภาพการชุมนุมสนับสนุนทหารในหลายพื้นที่ รวมถึงในกรุงเนปยีดอ โดยเป็นภาพคนถือธงชาติร้องตะโกนคำขวัญสนับสนุนกองทัพ หรือภาพของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย พร้อมกับคำอวยพรให้เขาสุขภาพแข็งแรง

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมาซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลทหารชุดปัจจุบัน ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของนางซูจี โดยอ้างการทุจริตเลือกตั้งปี 2563 การประท้วงต่อต้านและการปราบปรามอย่างนองเลือดต่อจากนั้นทำให้พลเรือนเสียชีวิตมากกว่า 1,500 คน และถูกจับกุมเกิน 11,800 คน ตามข้อมูลของสมาคมให้ความช่วยเหลือนักโทษการเมืองในเมียนมา นางซูจีโดนตั้งข้อหาดำเนินคดีหลายสิบข้อหาที่มีโทษจำคุกรวมกันมากกว่า 150 ปี

สื่อทางการรายงานว่า เมื่อวันจันทร์ มิน อ่อง หล่าย สั่งขยายภาวะฉุกเฉินต่อไปอีก 6 เดือน เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการจัดการเลือกตั้งใหม่ ท่ามกลางภัยคุกคามจาก "ผู้ก่อวินาศกรรมจากภายในและภายนอกประเทศ" และ "การก่อการร้ายและการทำลายล้าง"

หนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไลต์ออฟเมียนมากล่าวว่า รัฐบาลจะพยายามอย่างหนักเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ทันทีที่สถานการณ์ "สงบและเสถียร" เดิมกองทัพเคยให้คำมั่นว่าจะจัดเลือกตั้งใหม่ภายใน 2 ปี แต่เดือนที่แล้ว โฆษกรัฐบาลทหารกล่าวว่า จะจัดเลือกตั้งใหม่ภายในเดือนสิงหาคม 2566

อันโตนีโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ กล่าวเรียกร้องรัฐบาลทหารเมียนมาก่อนถึงวันครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร ขอให้ยินยอมให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าสู่เมียนมา หลังจากมิน อ่อง หล่าย ปฏิเสธทำตามแรงกดดัน โดยกล่าวหายูเอ็นว่าอคติและแทรกแซง

เมื่อวันจันทร์ รัฐบาลสหรัฐ, อังกฤษ และแคนาดา ยังพร้อมใจกันขึ้นบัญชีดำคว่ำบาตรผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลทหารเมียนมาเพิ่มเติมด้วย ในจำนวนนี้รวมถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายตุลาการ เช่น ตีดา อู อัยการสูง
สุด และทุน ทุน อู ประธานศาลฎีกา และทิน อู ประธานคณะกรรมการปราบปรามการคอร์รัปชัน ที่ถูกมองว่าใกล้ชิดกับการดำเนินคดีกับนางซูจีโดยมีแรงจูงใจทางการเมือง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ภูมิธรรม' เผย 4 ลูกเรือประมงไทยได้กลับบ้าน 4 ม.ค.68 ยันกองทัพไม่ได้อ่อนแอ

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงความคืบหน้าการช่วยลูกเรือประมงไทยทั้ง 4 คนที่ถูกดำเนินคดีและตัดสินโทษจำคุกในข้อหารุกล้ำน่านน้ำเมียนมา ว่า การล่วงล้ำชายแดนไม่ว่าจะเป็นทางบกหรือทางทะเล

'มาริษ' เผย 6 ชาติประชุมแก้ปัญหาเมียนมากับเพื่อนบ้าน เป็นไปด้วยดี

นายมาริษ เสงี่ยมพงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงถึงการประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างประเทศเมียนมาและประเทศเพื่อนบ้าน 6 ประเทศ (สปป.ลาว จีน อินเดีย บังกลาเทศ เมียนมา และไทย)

'โรม' จี้รัฐบาลตอบให้ชัด เมียนมาจะปล่อยตัว 4 ลูกเรือประมงไทย หลังปีใหม่คือเมื่อไหร่

นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีศาลเมียนมาสั่งจำคุก 4 ลูกเรือประมงชาวไทย