ประธานาธิบดีฝรั่งเศสเดินทางเยือนวอชิงตันเพื่อหารือกับประธานาธิบดีสหรัฐในประเด็นยูเครน ท่ามกลางความกังวลต่อรอยร้าวระหว่างสองฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก และผลการเจรจาออกมาในทางบวก

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา และประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส (ซ้าย) จับมือกันในตอนท้ายของการแถลงข่าวที่ทำเนียบขาว ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ (Photo by Ludovic MARIN / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 กล่าวว่า ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกา พร้อมเข้าพบประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อหารือประเด็นหลักสงครามยูเครน
ผู้นำทั้งสองพบกันที่ทำเนียบขาวในวาระครบรอบ 3 ปีการรุกรานของรัสเซีย และเปิดเผยว่ามีความคืบหน้าในแนวคิดการส่งกองกำลังรักษาสันติภาพไปยังยูเครน แม้ว่าทรัมป์จะยืนกรานว่ายุโรปควรเป็นฝ่ายแบกรับภาระนี้
การเจรจาดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครนเรียกร้องให้เกิดสันติภาพภายในปีนี้ระหว่างการพบปะกับบรรดาผู้นำยุโรปในกรุงเคียฟ และขณะที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติผลักดันมติที่สนับสนุนบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ได้แสดงจุดยืนของตนเองต่อสหประชาชาติที่ปฏิเสธการกล่าวโทษรัสเซีย และทำให้เกิดความกลัวว่าทรัมป์จะยอมรับประเด็นที่รัสเซียพูดถึงสงคราม
มาครงกล่าวในการแถลงข่าวร่วมกับทรัมป์ว่า "สันติภาพในที่นี้ไม่จำเป็นต้องหมายถึงการยอมจำนนของยูเครน พวกเราต้องการข้อตกลงที่รวดเร็ว แต่ไม่ใช่ข้อตกลงที่เปราะบาง"
มาครงกล่าวว่า ทรัมป์มีเจตนาที่ดีที่ต้องการกลับไปเจรจากับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียอีกครั้ง แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกันที่รัฐบาลวอชิงตันต้องเสนอการสนับสนุนต่อกองกำลังรักษาสันติภาพของยุโรป
ทั้งมาครงและนายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ ของอังกฤษซึ่งมีกำหนดเยือนทำเนียบขาวในวันพฤหัสบดี ต่างก็เสนอสิ่งที่ประธานาธิบดีฝรั่งเศสเรียกว่า "การส่งกองกำลังไปประจำการอย่างสันติ ไม่ใช่เพื่อการสู้รบ" ต่อยูเครน
มาครงกล่าวเสริมว่า "หลังจากได้พูดคุยกับประธานาธิบดีทรัมป์แล้ว ผมเชื่ออย่างเต็มที่ว่ายังมีหนทางข้างหน้า"
ประธานาธิบดีฝรั่งเศสรีบเดินทางไปกรุงวอชิงตันทันทีหลังจากที่ทรัมป์สร้างความตกตะลึงไปทั่วโลกเมื่อเขาประกาศว่าพร้อมที่จะกลับมาเจรจาทางการทูตกับรัสเซียและเจรจายุติสงครามยูเครนโดยไม่ต้องไปที่เคียฟ
การที่ทรัมป์เปิดใจยอมรับรัสเซียไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดความกลัวว่าอาจส่งผลให้สหรัฐฯ ยุติการสนับสนุนยูเครนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงยุโรปที่เหลือด้วย
ขณะที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯกล่าวว่า เขาเชื่อมั่นว่าจะยุติสงครามได้หลังจากการเจรจากับปูติน
ก่อนหน้านี้ ทรัมป์กล่าวกับมาครงในห้องทำงานรูปไข่ว่า "ผมคิดว่าเราสามารถยุติสงครามได้ภายในไม่กี่สัปดาห์หากเราฉลาดพอ แต่หากเราไม่ฉลาด สงครามก็จะดำเนินต่อไป"
ทรัมป์กล่าวเสริมว่า ปูตินพร้อมที่จะยอมรับกองกำลังยุโรปที่ประจำการในยูเครนเพื่อเป็นหลักประกันข้อตกลงยุติการสู้รบ
นับตั้งแต่ต่อสายโทรศัพท์คุยกับปูตินเมื่อไม่ถึงสองสัปดาห์ก่อน ดูเหมือนว่าทรัมป์จะสนับสนุนจุดยืนของปูตินเกี่ยวกับสงครามนี้ในหลายประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่รัฐบาลมอสโกมีความกระตือรือร้นที่จะยกเลิกการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกที่บังคับใช้หลังการรุกรานเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022
เมื่อหนึ่งวันก่อน ปูตินกล่าวว่าบริษัทของสหรัฐและรัสเซียได้พูดคุยเกี่ยวกับโครงการเศรษฐกิจร่วมกัน ซึ่งรวมถึงแร่ธาตุเชิงยุทธศาสตร์ในยูเครนที่ถูกยึดครอง และในการสัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ของรัฐ เขายังกล่าวอีกว่า เซเลนสกีกำลังกลายเป็น "บุคคลเป็นพิษ" ในยูเครน
ทรัมป์ได้แสดงความคิดเห็นในลักษณะเดียวกันเมื่อไม่นานนี้ หลังจากที่เซเลนสกีบ่นว่าถูกปิดกั้นไม่ให้เข้าร่วมการเจรจา โดยเรียกเขาว่า "เผด็จการที่ไม่ผ่านการเลือกตั้ง"
หลายฝ่ายกำลังจับตาดูการพบกันของทรัมป์และปูตินที่อาจเกิดขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าในซาอุดีอาระเบีย
เซเลนสกีเคยลั่นวาจาว่าจะยอมลงจากตำแหน่งเพื่อแลกกับสันติภาพพร้อมการรับประกันว่ายูเครนสามารถเข้าร่วมนาโตได้ และเรียกร้องให้เกิดสันติภาพที่แท้จริงและยั่งยืนในปีนี้
การตัดสินใจของปูตินในการเปิดฉากการรุกรานในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ได้จุดชนวนความขัดแย้งครั้งใหญ่ที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และส่งผลให้ทหารทั้งสองฝ่าย รวมทั้งพลเรือนยูเครนเสียชีวิตหลายหมื่นคน
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์กลับกล่าวหาว่ายูเครนเป็นผู้เริ่มสงคราม และดำเนินการอย่างรวดเร็วในการยุตินโยบายสนับสนุนเคียฟของอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน
ทรัมป์ระบุอย่างชัดเจนว่า เขาแตกหักอย่างเด็ดขาดกับนโยบายต่างประเทศแบบเดิมของสหรัฐฯ ซึ่งเขาชี้ว่า "โง่เขลามาก"
เนื่องจากยุโรปอยู่ในภาวะตื่นตระหนกจากการเปลี่ยนแปลงกระทันหันของสหรัฐฯ มาครงจึงพยายามประสานงานเพื่อตอบสนองแทนยุโรปต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
ผู้นำฝรั่งเศสเป็นตัวแทนของสหภาพยุโรปโดยรวมในระหว่างการเยือนครั้งนี้ หลังจากพบปะกับผู้นำทั่วทั้งทวีป รวมถึงวิกเตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรีฮังการีที่เป็นมิตรกับรัสเซีย.