องค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติ "องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล" เปิดเผยในรายงานเมื่อวันพุธว่า มีการค้นพบสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ใหม่ 224 ชนิดพันธุ์ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในปี 2564 ซึ่งรวมถึงจิ้งจกนิ้วยาวสายพันธุ์ใหม่ในไทย แม้ว่าจะมีภัยคุกคามแหล่งที่อยู่อาศัยอย่างรุนแรง
รายงานรอยเตอร์เมื่อวันพุธที่ 26 มกราคม 2565 กล่าวว่า องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ) เผยแพร่รายงานในวันเดียวกันว่า ปีที่ผ่านมามีการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์ใหม่ 224 ชนิดพันธุ์ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่ครอบคลุมประเทศไทย, เมียนมา, ลาว, กัมพูชาและเวียดนาม โดยสิ่งมีชีวิตที่ค้นพบใหม่นี้มีอาทิ จิ้งจกนิ้วยาวพันธุ์ใหม่ในไทย, ต้นหม่อนพันธุ์ใหม่ในเวียดนาม, ลิงที่ตั้งชื่อตามภูเขาไฟ, ต้นไผ่พันธุ์ใหม่ที่ปรับสภาพเติบโตได้ในพื้นที่แห้งแล้ง และกบหัวโตในเวียดนามและกัมพูชา ซึ่งเผชิญความเสี่ยงจากการตัดไม้ทำลายป่า
ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟกล่าวว่า การค้นพบชนิดพันธุ์ใหม่เหล่านี้ขับเน้นถึงความหลากหลายทางชีวภาพอันอุดมสมบูรณ์ของอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง และเป็นข้อพิสูจน์ถึงความยืดหยุ่นของธรรมชาติในการเอาชีวิตรอดในแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติที่กระจัดกระจายและเสื่อมโทรม
เค. โยคานันท์ ผู้นำระดับภูมิภาคด้านสัตว์ป่าและอาชญากรรมสัตว์ป่าของดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ-ลุ่มแม่น้ำโขง กล่าวว่า ชนิดพันธุ์เหล่านี้เป็นผลผลิตที่พิเศษและสวยงามจากวิวัฒนาการหลายล้านปี แต่ตกอยู่ภายใต้การคุกคามรุนแรง โดยหลายชนิดพันธุ์สูญพันธุ์ไปตั้งแต่ก่อนที่ชนิดพันธุ์นั้นๆ จะได้รับการจัดจำแนก
พื้นที่นี้เป็นที่อยู่อาศัยของบางสปีชีส์ที่ใกล้สูญพันธุ์มากที่สุดในโลก ซึ่งเสี่ยงต่อการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย, โรคจากกิจกรรมของมนุษย์ และการค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย
รายงานขององค์การสหประชาชาติเมื่อปีที่แล้วกล่าวว่า การลักลอบค้าสัตว์ป่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังคืบคลานกลับมา หลังจากหยุดชะงักไปชั่วคราวเนื่องจากข้อบังคับควบคุมโควิด-19 ที่ทำให้หลายประเทศปิดพรมแดนและตรวจตราเข้มงวดขึ้น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกฯ กล่าวถ้อยแถลงเวทีอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
นายกฯ กล่าวถ้อยแถลงเวทีอนุภูมิภาค GMS ครั้งที่ 8 ชูแนวทางพัฒนาของไทยด้วยนวัตกรรมที่ครอบคลุมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างสังคมที่มั่นคงและเท่าเทียม มั่นใจประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง สามารถพัฒนาร่วมกัน