นายกฯฝรั่งเศสเตรียมลุ้นอยู่หรือไป ลงมติไม่ไว้วางใจในรัฐสภา

ฟรองซัวส์ บายรู นายกรัฐมนตรีคนใหม่ฝรั่งเศส เผชิญกับการลงมติไม่ไว้วางใจเป็นครั้งแรกในรัฐสภา แม้เพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้ไม่นาน แต่หลายฝ่ายคาดว่าเขาน่าจะเอาตัวรอดได้

นายกรัฐมนตรีฟรองซัวส์ บายรู ของฝรั่งเศสแถลงนโยบายทั่วไปต่อสมาชิกรัฐสภาที่สมัชชาแห่งชาติในกรุงปารีส เมื่อวันที่ 14 มกราคม (Photo by Thomas SAMSON / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม 2568 กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีฟรองซัวส์ บายรู ของฝรั่งเศสที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเมื่อกลางเดือนธันวาคม ต้องรอลุ้นผลของการลงมติไม่ไว้วางใจในรัฐสภาเป็นครั้งแรก แม้เพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้ไม่นานเพื่อทดแทนนายกฯคนก่อนที่ต้องออกจากตำแหน่งเพราะกรณีเดียวกัน

ความท้าทายในสมัชชาแห่งชาติเกิดขึ้นหลังจากที่บายรูออกแถลงการณ์ในสัปดาห์นี้เกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล ซึ่งเขาเปิดประตูให้มีการเจรจารอบใหม่เกี่ยวกับการปฏิรูปเงินบำนาญปี 2023 อย่างไม่มีเงื่อนไข และยังกล่าวอีกว่าการขาดดุลมากเกินไปของฝรั่งเศสจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงในงบประมาณปีนี้

คำพูดดังกล่าวจุดชนวนให้เกิดการประณามจากฝ่ายค้านส่วนใหญ่ในรัฐสภาซึ่งบายรูมีคะแนนเสียงไม่ถึงครึ่ง ทำให้รัฐบาลของเขาเสี่ยงต่อการลงมติไม่ไว้วางใจ ซึ่งหากลงมติสำเร็จก็อาจบีบให้รัฐบาลต้องลาออกยกคณะเหมือนชุดก่อน

จอร์แดน บาร์เดลลา หัวหน้าพรรค National Rally (RN) ฝ่ายขวาจัด ตอบโต้คำพูดดังกล่าวของนายกฯว่าเป็น "คำพูดไร้สาระของชายผู้ไร้กระดูกสันหลัง"

อย่างไรก็ตาม พรรค LFI ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายซ้ายจัด แสดงจุดยืนว่าจะพิจารณาสถานการณ์ด้วยตนเอง โดยไม่สนใจจะจับมือกับฝ่ายขวาจัดเพื่อโค่นล้มรัฐบาล

ฌอง-ฟิลิป ต็องกี รองหัวหน้าพรรค RN กล่าวว่า "เราไม่คิดว่าการลงมติไม่ไว้วางใจควรเป็นกลไกในการสร้างกระแส" ขณะที่เซบาสเตียน เชนู รองประธานพรรค RN กล่าวว่าพรรคของเขาจะตัดสินรัฐบาลจากการกระทำ ไม่ใช่จากคำพูด

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านจะเกาะติดรัฐบาลในเรื่องงบประมาณสำหรับปี 2025 ซึ่งล่าช้ากว่ากำหนด หลังจากที่รัฐบาลก่อนหน้าของมีแชล บาร์นิเยถูกโค่นล้มจากแผนรัดเข็มขัด

ญัตติดังกล่าวจะถูกนำเสนอผ่านรัฐสภาตั้งแต่เวลา 15.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น โดยคาดว่าจะมีการลงคะแนนเสียงภายในช่วงเย็น

การเมืองฝรั่งเศสตกอยู่ในความโกลาหลตลอดปีที่แล้ว เมื่อประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครงประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อผ่าทางตันทางการเมือง แต่การลงคะแนนเสียงของประชาชนกลับส่งผลให้สภาล่างแตกแยกกันอย่างน่าหดหู่

มาครงยอมรับว่าการตัดสินใจยุบสภาแห่งชาติของเขาทำให้เกิด "ความแตกแยก" และ "ความไม่มั่นคง"

ถึงกระนั้น ต่อให้ต้องการล้างไพ่อีกครั้งด้วยการเลือกตั้งก็ทำไม่ได้ เพราะกฎเกณฑ์รัฐธรรมนูญกำหนดไม่ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติครั้งใหม่จนกว่าจะครบหนึ่งปี.

เพิ่มเพื่อน