สหรัฐเสนอรางวัล 25 ล้านดอลลาร์สำหรับข้อมูลใดๆที่นำไปสู่การจับกุมประธานาธิบดีนิโกลัส มาดูโร ของเวเนซุเอลาที่สาบานตนรับตำแหน่งอย่างมิชอบด้วยกฎหมายเพราะแพ้การเลือกตั้ง
ประธานาธิบดีนิโกลัส มาดูโร ของเวเนซุเอลา ทักทายผู้สนับสนุนหลังจากกล่าวสุนทรพจน์หน้าทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงการากัส เมื่อวันที่ 10 มกราคม (Photo by Federico PARRA / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม 2568 กล่าวว่า สหรัฐอเมริกาเสนอให้เงินรางวัล 25 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 868 ล้านบาท) สำหรับข้อมูลใดๆที่นำไปสู่การจับกุมประธานาธิบดีนิโกลัส มาดูโร ของเวเนซุเอลาที่สาบานตนรับตำแหน่งอย่างมิชอบด้วยกฎหมายเพราะแพ้การเลือกตั้ง
หลังจากมาดูโรเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่สาม แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้กล่าวในแถลงการณ์ว่า การสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของเขานั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะเขาแพ้การเลือกตั้งอย่างชัดเจนในปีที่แล้ว
"ชาวเวเนซุเอลาและคนทั่วโลกต่างรู้ความจริงว่ามาดูโรแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2024 อย่างชัดเจนและไม่มีสิทธิ์ที่จะอ้างความชอบธรรมใดๆในการเป็นประธานาธิบดี" บลิงเคนกล่าว
บลิงเคนเรียกพิธีดังกล่าวว่าเป็น "การเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีโดยมิชอบด้วยกฎหมาย" และเขาย้ำจุดยืนของรัฐบาลวอชิงตันว่า เอ็ดมุนโด กอนซาเลซ อูร์รุเทีย ผู้สมัครพรรคฝ่ายค้านที่ถูกเนรเทศคือผู้ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีที่ถูกต้องตามกฎหมายของเวเนซุเอลา
บลิงเคนกล่าวว่ารางวัลสูงสุดสำหรับข้อมูลที่นำไปสู่การจับกุมหรือตัดสินลงโทษมาดูโร รวมถึงดิออสดาโด คาเบลโล รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย มีมูลค่า 25 ล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ เขายังประกาศให้รางวัล 15 ล้านดอลลาร์สำหรับข้อมูลที่นำไปสู่การจับกุมวลาดิมีร์ ปาดริโน โลเปซ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของเวเนซุเอลา
บุคคลทั้งสามถูกหมายหัวจากสหรัฐฯตามข้อกล่าวหาค้ายาเสพติดที่ประกาศเมื่อเดือนมีนาคม 2020 ซึ่งเป็นเวลาที่มาดูโรได้รับการเลือกตั้งอีกสมัยในตอนนั้น และรัฐบาลวอชิงตันก็ไม่เคยยอมรับชัยชนะครั้งนั้นเช่นกัน
กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่ากำลังลงโทษเจ้าหน้าที่ระดับสูง 8 รายที่เป็นผู้นำของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงที่สำคัญที่สนับสนุนการปราบปรามและบ่อนทำลายประชาธิปไตยในเวเนซุเอลา โดยบุคคลเหล่านั้นเป็นทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกองทัพและตำรวจ รวมถึงประธานบริษัทน้ำมันและสายการบินของรัฐ
หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมซึ่งเป็นที่โต้แย้งท่ามกลางข้อกล่าวหาทุจริตการเลือกตั้งอย่างกว้างขวางจากฝ่ายค้าน ประเทศละตินอเมริกาที่ร่ำรวยน้ำมันแห่งนี้ตกอยู่ในวิกฤตการเมืองหลังจากประธานาธิบดีมาดูโรชิงประกาศว่าตนเองเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งดังกล่าว แม้ผลการเลือกตั้งขัดกับผลสำรวจก่อนการเลือกตั้งอย่างชัดเจน จนทั่วโลกออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงความโปร่งใส และส่งผลให้ฝ่ายค้านและประชาชนออกมาเดินขบวนประท้วงทั่วประเทศ
แบรดลีย์ สมิธ รักษาการปลัดกระทรวงการคลังฝ่ายการก่อการร้ายและข่าวกรองทางการเงิน กล่าวในแถลงการณ์ว่า "ตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว มาดูโรและผู้ร่วมงานของเขาได้ใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้เห็นต่างมาตลอด"
"สหรัฐฯ พร้อมด้วยพันธมิตรที่มีแนวคิดเหมือนกัน ร่วมยืนหยัดเคียงข้างประชาชนชาวเวเนซุเอลาในการลงคะแนนเสียงเลือกผู้นำคนใหม่ และปฏิเสธการอ้างชัยชนะอันฉ้อฉลของมาดูโร" เขากล่าวเสริม
ทั้งนี้ สหราชอาณาจักร, แคนาดา และสหภาพยุโรปได้ดำเนินการในลักษณะเดียวกันเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยออกแถลงการณ์ระบุ "ข้อความแห่งความสามัคคีกับประชาชนชาวเวเนซุเอลา" ตามแถลงการณ์ของกระทรวงการคลังสหรัฐ.