กรีนแลนด์ (Greenland) เกาะที่ใกล้ขั้วโลกเหนือมากที่สุด และอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศเดนมาร์ก (Photo by James BROOKS / AFP)
"กรีนแลนด์" ซึ่งโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต้องการผนวก เป็นดินแดนปกครองตนเองของเดนมาร์ก, ปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง, มีทรัพยากรแร่ธาตุที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ และมีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์
เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทรัมป์เคยกล่าวว่าการควบคุมเกาะในมหาสมุทรอาร์กติกแห่งนี้เป็น "สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง" เพื่อวัตถุประสงค์ด้านความมั่นคงของชาติและเสรีภาพทั่วโลก
แต่นักการเมืองจากพรรครีพับลิกันซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคม ได้จุดชนวนให้เกิดความกังวลครั้งใหม่ในสัปดาห์นี้ เมื่อเขาปฏิเสธที่จะตัดความเป็นไปได้ของการแทรกแซงทางทหาร ทำให้เกิดความประหลาดใจในโคเปนเฮเกน, นุก (Nuuk) เมืองหลวงของกรีนแลนด์ และทั่วทั้งยุโรป
อย่างไรก็ตาม เดนมาร์กตอบสนองด้วยการกล่าวว่า "เปิดกว้างต่อการเจรจากับรัฐบาลวอชิงตัน" เพื่อให้แน่ใจว่าผลประโยชน์ของสหรัฐจะได้รับการปกป้องในช่วงเวลาที่ความขัดแย้งกับจีนและรัสเซียในอาร์กติกกำลังเพิ่มมากขึ้น
แม้จะมีอำนาจปกครองตนเอง แต่กรีนแลนด์ก็ต้องพึ่งพารัฐบาลโคเปนเฮเกนในการบังคับใช้กฎหมาย, นโยบายการเงิน, กิจการต่างประเทศ ตลอดจนนโยบายการป้องกันประเทศและความมั่นคง
นักประวัติศาสตร์จากสถาบันการศึกษาระหว่างประเทศของเดนมาร์ก กล่าวว่า ด้วยความสำคัญทางภูมิศาสตร์ที่เมืองหลวงของกรีนแลนด์อยู่ใกล้กับนิวยอร์กมากกว่าโคเปนเฮเกน กรีนแลนด์จึงถือว่าอยู่ใน "เขตผลประโยชน์" ของสหรัฐ นอกจากนี้ในช่วงสงครามที่เดนมาร์กถูกเยอรมนียึดครอง สหรัฐเคยเข้าครอบครองกรีนแลนด์ และถ้าจะมองในแง่ความเป็นจริง สหรัฐไม่เคยถอนตัวเองจากจากเกาะแห่งนี้เลย
สหรัฐยังคงมีฐานทัพทหารที่ประจำการอยู่ในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของดินแดน และกรีนแลนด์มีวิถีการยิงขีปนาวุธที่สั้นที่สุดไปยังรัสเซีย
ขณะที่นักรัฐศาสตร์จากสถาบันการศึกษาระหว่างประเทศของเดนมาร์ก กล่าวว่า สหรัฐมีข้อร้องเรียนที่สมเหตุสมผลเกี่ยวกับการขาดการเฝ้าระวังน่านฟ้าและพื้นที่ใต้น้ำทางตะวันออกของกรีนแลนด์เมื่อเส้นทางเดินเรือใหม่ถูกเปิดขึ้นเนื่องจากน้ำแข็งละลาย ปัญหาดังกล่าวจึงถือเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แม้ทรัมป์อาจกำลังใช้คำพูดที่เกินจริงไปหน่อย
ในช่วงดำรงตำแหน่งวาระแรกเมื่อปี 2019 ทรัมป์เคยเสนอแนวคิดว่าเขาต้องการซื้อดินแดนดังกล่าว แต่ได้รับการปฏิเสธ
ผู้เชี่ยวชาญยังคงงุนงงกับสิ่งที่รัฐบาลของประธานาธิบดีคนใหม่กำลังวางแผนอยู่
ตั้งแต่ปี 2009 ชาวกรีนแลนด์เป็นผู้รับผิดชอบในการตัดสินใจว่าจะใช้ทรัพยากรธรรมชาติของตนอย่างไร การเข้าถึงทรัพยากรแร่ธาตุของกรีนแลนด์จึงถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในภาคส่วนดังกล่าวในปี 2019 เป็นการนำร่องให้สหภาพยุโรปดำเนินการตามในอีกสี่ปีต่อมา
แผ่นดินของกรีนแลนด์ได้รับการสำรวจเป็นอย่างดี ซึ่งทำให้สามารถจัดทำแผนที่ทรัพยากรโดยละเอียดได้
สหภาพยุโรปได้ระบุแร่ธาตุ 25 ชนิดจากทั้งหมด 34 ชนิดในรายชื่อวัตถุดิบสำคัญอย่างเป็นทางการของกรีนแลนด์ ซึ่งรวมถึงแร่ธาตุหายากด้วย
นักวิเคราะห์จากยุโรปกล่าวว่า "เนื่องจากความต้องการแร่ธาตุเพิ่มขึ้น ทุกชาติจึงจำเป็นต้องแสวงหาแหล่งทรัพยากรที่ยังไม่ได้ใช้ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตระหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าพวกเขาจำเป็นต้องกระจายแหล่งที่มา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องพึ่งพาแร่ธาตุหายากจากจีน นอกจากนี้ ยังมีความกลัวว่าจีนจะครอบครองทรัพยากรแร่ธาตุดังกล่าวด้วย"
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ภาคส่วนการทำเหมืองแร่ในกรีนแลนด์แทบไม่มีอยู่เลย
บนเกาะมีเหมืองเพียงสองแห่ง แห่งหนึ่งขุดทับทิม ซึ่งกำลังมองหานักลงทุนรายใหม่ และอีกแห่งขุดอะนอร์โธไซต์ (Anorthosite) ซึ่งเป็นหินที่มีไททาเนียมเป็นส่วนประกอบ
ในทางเศรษฐกิจ ดินแดนซึ่งกำลังแสวงหาวิธีปลดแอกจากเดนมาร์กแห่งนี้นั้นต้องพึ่งพาเงินอุดหนุนจากรัฐบาลโคเปนเฮเกน ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 5 ของจีดีพี และจากการประมง
ความหวังส่วนหนึ่งอยู่ที่การเปิดสนามบินนานาชาตินูกในเดือนพฤศจิกายน เพื่อช่วยพัฒนาการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาร์กติก
ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานยังเป็นประเด็นสำคัญสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่
นักวิเคราะห์กล่าวว่า "เมื่อพูดถึงอุตสาหกรรมการสกัดแร่ ทรัมป์กำลังผลักดันให้กรีนแลนด์อยู่ในแผนที่การทำเหมืองแร่ แต่ยากที่จะบอกได้ว่ากรีนแลนด์จะพัฒนาไปได้อย่างไร เนื่องจากขาดนักลงทุน รวมไปถึงความยากลำบากโดยธรรมชาติในกรีนแลนด์จากสภาพอากาศที่เลวร้ายมาก, สภาพแวดล้อมที่ได้รับการคุ้มครอง และต้นทุนทางการเงินอีกจำนวนมาก โดยต้องพัฒนาทั้งโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและดิจิทัล นอกจากนี้ระบบการกำกับดูแลที่ไม่ได้รับการทดสอบยังเพิ่มความไม่แน่นอนอีกด้วย"
การคัดค้านของประชาชนต่อการทำเหมืองยูเรเนียมในกรีนแลนด์ตอนใต้กระตุ้นให้มีการออกกฎหมายห้ามการสกัดผลิตภัณฑ์กัมมันตภาพรังสี
ทรัพยากรที่มีศักยภาพอีกอย่างหนึ่งที่จะถูกใช้ประโยชน์คือน้ำมัน แต่ในปัจจุบันน้ำมันอยู่ในภาวะหยุดชะงัก
ถึงกระนั้น ความต้องการของทรัมป์คงไม่เกิดขึ้นง่ายๆ เนื่องจากสหภาพยุโรปและผู้นำหลายชาติต่างเรียกร้องให้ทรัมป์เคารพบูรณภาพแห่งดินแดนและอำนาจอธิปไตยของกรีนแลนด์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเดนมาร์ก และไม่สามารถซื้อขายหรือใช้กำลังทหารเข้ายึดได้
ทรัมป์เพิ่งจุดชนวนครั้งใหม่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาในงานแถลงข่าว เมื่อเขาปฏิเสธที่จะตัดความเป็นไปได้ที่สหรัฐจะเข้าแทรกแซงในประเด็นคลองปานามาและกรีนแลนด์ ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้ทรัมป์เคยกล่าวไว้ว่าเขาต้องการให้สหรัฐเข้าควบคุม ถือเป็นการส่งสัญญาณว่าผู้นำสหรัฐคนใหม่มีแผนที่จะเข้ายึดครองเกาะในอาร์กติกแห่งนี้ที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุและน้ำมัน อันเป็นดินแดนปกครองตนเองของเดนมาร์กซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และกำลังต้องการเป็นเอกราช.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เดนมาร์กกำลังเปลี่ยนตราแผ่นดินใหม่ พร้อมสื่อถึง 'โดนัลด์ ทรัมป์'
ภาพหมีขั้วโลกเป็นสัญญาณถึงทำเนียบขาว - สมเด็จพระราชาธิบดีเฟรเดอริกที่ 10 แห่งเดนมาร์ก ทรงเปลี่ยนตราแผ่นดินใหม่อีกครั้ง นับเป็นมิติใหม่ที่ส
กรีนแลนด์ ยืนหยัดคัดค้าน 'โดนัลด์ ทรัมป์'
ว่าที่ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ประกาศย้ำอีกครั้งว่า เขาต้องการควบคุมกรีนแลนด์ แต่ผู้นำรัฐบาลของเกาะมีปฏิกิริยาตอบโต้เรื่องนี้ด้วยคำพูดที่ชัดเ