เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธลูกแรกของปี ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เดินทางไปเยือนเกาหลีใต้และเตือนว่าเปียงยางกำลังทำงานร่วมกับมอสโกอย่างใกล้ชิดมากขึ้นด้านเทคโนโลยีอวกาศขั้นสูง
แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ พูดคุยระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับโช แทยูล รัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีใต้ ภายหลังการประชุมที่กระทรวงต่างประเทศในกรุงโซล เมื่อวันที่ 6 มกราคม (Photo by Lee Jin-man / POOL / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 6 มกราคม 2568 กล่าวว่า แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เดินทางเยือนเกาหลีใต้ ในขณะที่เจ้าหน้าที่สอบสวนพยายามจับกุมประธานาธิบดียุน ซ็อก-ยอล ซึ่งเก็บซ่อนตัวอยู่ในบ้านพัก หลังถูกถอดถอนจากตำแหน่งเพราะประกาศกฎอัยการศึกโดยมิชอบ
บลิงเคนงวางแผนจะสนับสนุนให้เกาหลีใต้คงนโยบายของยุนในการเสริมสร้างความร่วมมือกับญี่ปุ่นไว้ แต่ระหว่างการเจรจากันในกรุงโซล เกาหลีเหนือได้ยิงขีปนาวุธพิสัยไกลลูกหนึ่งไปตกในทะเล
กองทัพเกาหลีใต้กล่าวว่าขีปนาวุธดังกล่าวร่อนไปได้ไกลประมาณ 1,100 กิโลเมตร (680 ไมล์)
"การยิงขีปนาวุธในวันนี้เป็นเพียงการเตือนให้เราทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันของพันธมิตร" บลิงเคนกล่าว โดยชี้ให้เห็นถึงการฝึกซ้อมร่วมที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐ-เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น และการแบ่งปันข้อมูลข่าวกรองเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ
บลิงเคนและโช แทยูล รัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีใต้ ประณามการยิงขีปนาวุธดังกล่าวในการแถลงข่าวร่วมกัน ซึ่งนักการทูตระดับสูงของสหรัฐฯ ที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่งได้เตือนว่า รัสเซียกำลังเพิ่มการสนับสนุนเกาหลีเหนือเพื่อเป็นรางวัลสำหรับความช่วยเหลือในการต่อสู้กับยูเครน
"เกาหลีเหนือได้รับอุปกรณ์และการฝึกอบรมทางทหารจากรัสเซียแล้ว ตอนนี้เรามีเหตุผลที่จะเชื่อว่ารัฐบาลมอสโกตั้งใจที่จะแบ่งปันเทคโนโลยีอวกาศและดาวเทียมขั้นสูงกับรัฐบาลเปียงยาง" บลิงเคนกล่าว
นอกจากนี้ บลิงเคนยังแสดงความกังวลอีกว่า รัสเซียซึ่งเป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่มีอำนาจยับยั้ง (วีโต้) จะยอมรับเกาหลีเหนือเป็นรัฐนิวเคลียร์อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะเป็นการกระทบกระเทือนต่อฉันทามติทั่วโลกที่ระบุว่าเกาหลีเหนือต้องยุติโครงการนิวเคลียร์
หน่วยข่าวกรองของสหรัฐและเกาหลีใต้เชื่อว่าเกาหลีเหนือส่งทหารหลายพันนายไปต่อสู้กับยูเครนเมื่อปลายปีที่แล้ว และสูญเสียทหารไปหลายร้อยนายแล้ว
ในกรุงโตเกียว ซึ่งเป็นที่ที่บลิงเคนจะมุ่งหน้าไปในวันจันทร์นี้ นายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ ของญี่ปุ่นแสดงความกังวลไปในทิศทางเดียวกันว่า "เทคโนโลยีของเกาหลีเหนือกำลังพัฒนา"
การทดสอบขีปนาวุธดังกล่าวเกิดขึ้นสองสัปดาห์ก่อนการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของโดนัลด์ ทรัมป์ซึ่งในวาระสุดท้ายของเขา เขาพยายามเกลี้ยกล่อมเกาหลีเหนือด้วยการใช้การทูตส่วนตัวที่ไม่เหมือนใคร
ทรัมป์ซึ่งเคยโกรธและขู่ว่าจะยิงถล่มเกาหลีเหนือ ได้พบกับผู้นำคิมจองอึนถึง 3 ครั้งแล้ว และกล่าวว่าพวกเขาตกหลุมรักกัน
ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนเสนอรูปแบบการเจรจาระดับปฏิบัติการแบบดั้งเดิมที่เน้นไปที่การยุติโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ โดยบลิงเคนปกป้องแนวทางของรัฐบาลชุดปัจจุบันและกล่าวว่ารัฐบาลได้ยื่นมือเข้าไปหาเกาหลีเหนือแล้วแต่สิ่งที่ได้รับกลับมาคือ การกระทำที่ยั่วยุมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการยิงขีปนาวุธ
โรงแรมในโซลที่บลิงเคนพักนั้นอยู่ในระยะที่ได้ยินเสียงการประท้วงอันดุเดือดของผู้สนับสนุนและฝ่ายตรงข้ามของประธานาธิบดียุน แต่เชาหลีกเลี่ยงการเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในประเทศที่แบ่งแยกกันอย่างขมขื่น
เขาย้ำถึงความกังวลของสหรัฐฯ อีกครั้งเกี่ยวกับการที่ยุนประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม และยกย่องความยืดหยุ่นทางประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ โดยไม่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความพยายามจับกุมประธานาธิบดี
"สหรัฐฯ เชื่อมั่นอย่างเต็มที่ในสถาบันของเกาหลีใต้ และเราขอเน้นย้ำถึงการสนับสนุนอย่างไม่ลดละของเราที่มีต่อชาวเกาหลี ในขณะที่พวกเขาทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อรักษาสถาบันเหล่านั้นไว้" บลิงเคนกล่าว
ก่อนหน้านี้ ยุนเป็นที่รักของรัฐบาลไบเดน เขาได้รับเลือกให้เป็นผู้นำการประชุมสุดยอดประชาธิปไตยระดับโลก และสร้างความพอใจให้กับรัฐบาลวอชิงตันด้วยการเคลื่อนไหวเพื่อพลิกหน้าความขัดแย้งหลายสิบปีกับญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ และเป็นที่ตั้งของกองทหารสหรัฐฯ หลายพันนาย
ในปี 2567 ยุนเข้าร่วมการประชุมสุดยอดสามฝ่ายครั้งสำคัญระหว่างไบเดนและฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในขณะนั้น ที่ค่ายพักแรมประธานาธิบดีแคมป์เดวิด
นอกจากนี้ บลิงเคนยังได้พบกับชเว ซังมก รักษาการประธานาธิบดี ซึ่งเป็นนักเทคโนแครตที่ดำรงตำแหน่งนี้มาได้เพียงสัปดาห์เศษ โดยสำนักงานของชเวระบุว่าเกาหลีใต้ยังคงยึดมั่นในหลักการและข้อตกลงจากการประชุมสุดยอดแคมป์เดวิด และการเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐฯ
แต่ฝ่ายค้านหัวก้าวหน้าของเกาหลีใต้ซึ่งกำลังมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ประธานาธิบดีถูกถอดถอน กลับมีท่าทีแข็งกร้าวต่อญี่ปุ่น และสนับสนุนแนวทางการทูตกับเกาหลีเหนือมากกว่า.