มันโมฮัน สิงห์ อดีตนายกรัฐมนตรีอินเดียซึ่งมีผลงานจากการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ ถึงแก่อสัญกรรมอย่างกระทันหันด้วยวัย 92 ปี
แฟ้มภาพ อดีตนายกรัฐมนตรีมันโมฮัน สิงห์ ของอินเดีย (Photo by AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม 2567 กล่าวว่า อดีตนายกรัฐมนตรีมันโมฮัน สิงห์ ของอินเดียถึงแก่อสัญกรรมอย่างกระทันหันด้วยวัย 92 ปี จากปัญหาสุขภาพ
นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของอินเดียกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีว่า การอสัญกรรมของสิงห์ซึ่งมีผลงานจากการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศจนทำให้อินเดียก้าวสู่การเป็นมหาอำนาจ นำมาซึ่งความโศกเศร้ากับการสูญเสียผู้นำที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่ง
"ในฐานะนายกรัฐมนตรีของเรา เขาพยายามอย่างเต็มที่เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คน" โมดีกล่าว
แถลงการณ์ของสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ออลอินเดียระบุว่า มันโมฮัน สิงห์ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลในกรุงนิวเดลีหลังจากที่เขาหมดสติที่บ้านพักมื่อวันพฤหัสบดี แต่แพทย์ไม่สามารถช่วยชีวิตได้และเขาจากไปอย่างสงบในเวลา 21.51 น. ตามเวลาท้องถิ่น
สิงห์ซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2004- 2014 ได้รับการยกย่องว่ามีส่วนสำคัญในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจจนทำให้อินเดียเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับสี่ของเอเชียในวาระแรกของเขา แม้ว่าการเติบโตที่ชะลอตัวในช่วงหลายปีหลังๆ ส่งผลกระทบต่อการดำรงตำแหน่งวาระที่สองของเขาก็ตาม
ราหุล คานธี หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านกล่าวในแถลงการณ์ว่า มันโมฮัน สิงห์เป็นผู้นำอินเดียที่เปี่ยมด้วยภูมิปัญญาและความซื่อสัตย์อันยิ่งใหญ่
"พวกเราหลายล้านคนที่ชื่นชมเขา จะจดจำเขาด้วยความภาคภูมิใจอย่างที่สุด" คานธีซึ่งเป็นลูกหลานของราชวงศ์เนห์รู-คานธีที่ทรงอำนาจของอินเดียและผู้ท้าชิงที่โดดเด่นที่สุดของโมดี กล่าว
มัลลิการ์จุน คาร์จ หัวหน้าฝ่ายค้านในสภาสูงของรัฐสภา กล่าวเช่นกันว่า "อินเดียสูญเสียนักการเมืองผู้มีวิสัยทัศน์, ผู้นำที่มีความซื่อสัตย์สุจริต และนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความสามารถที่ไม่มีใครเทียบได้"
ขณะที่ประธานาธิบดีดรูปาดี เมอร์มู กล่าวว่า "สิงห์จะถูกจดจำตลอดไปสำหรับการรับใช้ประเทศด้วยชีวิตทางการเมืองที่ไร้มลทิน และด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างที่สุด"
มันโมฮัน สิงห์เกิดเมื่อปี 1932 ในหมู่บ้านชื่อกาห์ (ปัจจุบันคือพื้นที่ในปากีสถาน) เขาศึกษาเศรษฐศาสตร์เพื่อหาหนทางขจัดความยากจนในอินเดีย และไม่เคยได้รับการเลือกตั้งมาก่อนจนกระทั่งได้ตำแหน่งสูงสุดของประเทศ
เขาได้รับทุนการศึกษาเพื่อเข้าเรียนที่เคมบริดจ์ ซึ่งเขาจบอันดับหนึ่งด้านเศรษฐศาสตร์ และที่ออกซ์ฟอร์ด ซึ่งเขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก
สิงห์เคยทำงานในตำแหน่งพลเรือนระดับสูงหลายตำแหน่ง, ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลาง และยังเคยทำงานให้กับหน่วยงานระดับโลกหลายแห่ง รวมถึงสหประชาชาติด้วย
ผลงานในวาระแรกของการดำรงตำแหน่งนายกฯ สิงห์ได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตถึงร้อยละ 9 และช่วยให้อินเดียมีอิทธิพลในระดับนานาชาติอย่างที่ใฝ่ฝันมานาน
เขายังได้ลงนามข้อตกลงนิวเคลียร์สำคัญกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขากล่าวว่าจะช่วยให้อินเดียตอบสนองความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม สิงห์ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม "มิสเตอร์คลีน" กลับมีภาพลักษณ์ที่มัวหมองในช่วงที่ดำรงตำแหน่งยาวนานกว่าทศวรรษ เมื่อคดีทุจริตหลายคดีถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ
หลายเดือนก่อนการเลือกตั้งปี 2014 สิงห์กล่าวว่าเขาจะเกษียณหลังการเลือกตั้งครั้งนั้น โดยจะให้ราหุล คานธีเข้ามาดำรงตำแหน่งแทนหากพรรคคองเกรสได้รับชัยชนะ
แต่พรรคคองเกรสประสบความล้มเหลวในการเลือกตั้งครั้งนั้น เนื่องจากพรรคภารติยะชนะตา (บีเจพี) ซึ่งเป็นพรรคชาตินิยมฮินดูที่นำโดยโมดี ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย
สิงห์ซึ่งเคยกล่าวว่านักประวัติศาสตร์จะใจดีกับเขามากกว่าผู้ที่คอยวิพากษ์วิจารณ์เขาในปัจจุบัน ได้กลายมาเป็นนักวิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจของโมดีอย่างเปิดเผย และล่าสุดก็ได้เตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ความตึงเครียดระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ที่เพิ่มมากขึ้นอาจส่งผลต่อระบอบประชาธิปไตยของอินเดียได้.