ผู้คนร่วมไว้อาลัยด้วยการหลั่งน้ำตา, อธิษฐาน และจุดเทียนในพิธีต่างๆ ทั่วเอเชีย เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตกว่า 220,000 ราย เมื่อสองทศวรรษก่อน จากเหตุสึนามิถล่มชายฝั่งรอบมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในภัยพิบัติที่เลวร้ายที่สุดในโลก
กลุ่มสตรีอินเดียประกอบพิธีกรรมในพิธีที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหยื่อของคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดียเมื่อปี 2004 ที่ชายหาด Pattinapakkam ในเมืองเจนไน รัฐทมิฬนาฑู ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม (Photo by R.Satish BABU / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม 2567 กล่าวว่า แผ่นดินไหวขนาด 9.1 แม็กนิจูดนอกชายฝั่งตะวันตกของอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ก่อให้เกิดคลื่นสูงถึง 30 เมตร (98 ฟุต) ซัดเข้าชายฝั่งของ 14 ประเทศ ตั้งแต่อินโดนีเซียไปจนถึงโซมาเลีย
ในจังหวัดอาเจะห์ของอินโดนีเซีย ซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100,000 ราย เสียงไซเรนดังขึ้นที่มัสยิดไบตูร์เราะห์มานเพื่อเริ่มต้นพิธีรำลึกต่างๆ ในภูมิภาคนี้ รวมถึงในศรีลังกา, อินเดีย และไทย ซึ่งเกิดคลื่นสึนามิขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงตามมา
ผู้คนต่างเล่าเรื่องราวที่น่าสะเทือนขวัญจากการรอดชีวิตมาได้อย่างปาฏิหาริย์ ขณะที่คลื่นยักษ์ซัดเข้ามาโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า พัดพาเศษซากต่างๆ รวมถึงรถยนต์ และทำลายอาคารต่างๆ ไปด้วย
บริเวณหลุมศพหมู่ที่ซีรอนในอาเจะห์ ซึ่งมีร่างของผู้คนราว 46,000 รายถูกฝังอยู่ ญาติพี่น้องที่โศกเศร้าต่างสวดภาวนาตามหลักศาสนาอิสลามใต้ร่มไม้ที่เติบโตอยู่ที่นั่นตั้งแต่นั้นมา
คลื่นขนาดใหญ่ที่ซัดมาจากท้องทะเลด้วยความเร็วสองเท่าของรถไฟความเร็วสูงข้ามมหาสมุทรอินเดียภายในไม่กี่ชั่วโมง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวนมากที่ฉลองคริสต์มาสบนชายหาดที่มีแสงแดดส่องสว่างในภูมิภาคนี้ โศกนาฏกรรมดังกล่าวจึงถือเป็นเรื่องราวที่สร้างผลกระทบทางจิตใจไปทั่วโลก
ในประเทศไทย ซึ่งครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตกว่า 5,000 รายเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ การรำลึกถึงผู้เสียชีวิตยังรวมถึงญาติพี่น้องที่หลั่งน้ำตาวางดอกไม้และพวงหรีดที่กำแพงรูปคลื่นในบ้านน้ำเค็ม ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด
การจุดเทียนไว้อาลัยบนชายหาดเขาหลักซึ่งจัดโดยสถานทูตสวีเดนในประเทศไทยดึงดูดฝูงชนประมาณ 100 คน โดยส่วนใหญ่เป็นชาวสวีเดนซึ่งเป็นหนึ่งในชาติที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดเมื่อพิจารณาจากสัดส่วนของประชากร
ตามข้อมูลของ EM-DAT ซึ่งเป็นฐานข้อมูลภัยพิบัติระดับโลกที่ได้รับการยอมรับ ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากคลื่นสึนามิครั้งนั้นทั้งหมด 226,408 ราย ซึ่งการปราศจากการเตือนภัยล่วงหน้าเกี่ยวกับคลื่นสึนามิทำให้มีเวลาอพยพผู้คนน้อยมาก แม้ว่ามีคลื่นซัดเข้าใส่หลายพื้นที่ในแต่ละชั่วโมงแล้วก็ตาม
แต่ปัจจุบัน เครือข่ายสถานีตรวจสอบได้รับการพัฒนาให้สามารถส่งคำเตือนได้เร็วขึ้น
ในศรีลังกา ซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 35,000 ราย ผู้รอดชีวิตและญาติพี่น้องมารวมตัวกันเพื่อรำลึกถึงเหยื่อราว 1,000 รายที่เสียชีวิตจากคลื่นซัดเข้าใส่รถไฟโดยสารจนตกราง
ผู้ไว้อาลัยขึ้นรถไฟ 'Ocean Queen Express' ที่ได้รับการบูรณะแล้วและมุ่งหน้าไปยังเปราลิยา ซึ่งเป็นจุดเดียวกับที่รถไฟถูกฉีกขาดออกจากราง ห่างจากกรุงโคลัมโบไปทางใต้ประมาณ 90 กิโลเมตร
มีการจัดพิธีทางศาสนาสั้นๆ ร่วมกับญาติของผู้เสียชีวิต นอกจากนี้ยังมีการจัดพิธีทางศาสนาพุทธ, ฮินดู, คริสต์ และอิสลาม เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตทั่วประเทศเอเชียใต้แห่งนี้
มีผู้เสียชีวิตเกือบ 300 รายในพื้นที่ห่างไกลอย่างโซมาเลียด้วยเช่นกัน รวมถึงมากกว่า 100 รายในมัลดีฟส์ และอีกหลายสิบรายในมาเลเซียและเมียนมา.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกฯ เปิดพิพิธภัณฑ์สึนามิบ้านน้ำเค็ม หวังท้องถิ่น-เอกชนมีส่วนร่วมดูแลให้เกิดประโยชน์
นายกฯ เปิด“พิพิธภัณฑ์สึนามิบ้านน้ำเค็ม”ชี้ภาพความสูญเสียอยู่ในหัวใจ ต้องช่วยกันป้องกัน บอกเสียใจทุกครั้งที่มีการบาดเจ็บสูยเสีย เพราะถือว่าคือคนไทยด้วยกัน ลั่นตราบใดที่ยังมีหน้าที่ตรงนี้จะพยายามทำให้เต็มที่ แก้ไขปัญหา ขอปชช. เร่งสร้างความรัก-ความสามัคคี ในสังคมไทย
อินโดนีเซียกลับใจยอมให้ผู้ลี้ภัยโรฮีนจาขึ้นฝั่ง
โดนรุมประท้วงหนัก ทางการอินโดนีเซียเปลี่ยนใจจะยอมอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยทางเรือชาวโรฮีนจาไม่ต่ำกว่า 100 คน ขึ้นฝั่ง หลังจากเตรียมผลักดันเรือของพวกเขาออกทะเลไปยังมาเลเซีย