นายกรัฐมนตรีเยอรมนีแพ้การลงมติไม่ไว้วางใจเมื่อวันจันทร์ ส่งผลให้รัฐบาลที่มีปัญหาของเขาต้องยุติลง และทำให้ประเทศขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของยุโรปต้องเข้าสู่การเลือกตั้งในวันที่ 23 กุมภาพันธ์
นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ (ขวา) เข้าพบกับประธานาธิบดีฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อขอให้ประกาศยุบสภา หลังจากมีการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล ที่พระราชวังเบลล์วิวในกรุงเบอร์ลิน เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม (Photo by John MACDOUGALL / POOL / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 17 ธันวาคม 2567 กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนีโดนสอยร่วงกลางรัฐสภา หลังถูกลงมติไม่ไว้วางใจ ทำให้ต้องยุบสภาและจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 23 กุมภาพันธ์
รัฐบาลของชอลซ์ล่มสลายมาก่อนหน้านี้แล้ว หลังพรรคร่วมฯถอนตัวจนสูญเสียเสถียรภาพในการบริหารงาน แต่ชอลซ์ได้เรียกร้องให้รัฐสภาพิจารณาลงมติว่าจะไว้วางใจหรือไม่ ทั้งๆที่คาดการณ์ได้ไม่ยากว่าจะพ่ายแพ้ค่อนข้างแน่นอนและได้เตรียมกำหนดวันเลือกตั้งใหม่รอไว้แล้ว
หลังเสร็จสิ้นกระบวนการลงมติในรัฐสภา เขาได้เดินทางไปเข้าพบประธานาธิบดีฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเพื่อขอให้ประกาศยุบสภานิติบัญญัติในเร็วๆ นี้ และเรียกร้องให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเตรียมพร้อมสำหรับการเข้าคูหาอีกครั้ง
ต่อจากนี้ ชอลซ์จะยังดำรงตำแหน่งรักษาการนายกฯเสียงข้างน้อยในรัฐสภา และความวุ่นวายทางการเมืองก็จะยังคงคุกคามไปอีกหลายเดือนจนกว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลผสมชุดใหม่
ชอลซ์ วัย 66 ปี ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาอย่างหนักและหวังว่าจะลงเลือกตั้งเพื่อกลับมาเป็นผู้นำสมัยสอง มีคะแนนนิยมตามหลังฟรีดริช เมิร์ซ ผู้นำฝ่ายค้านสายอนุรักษนิยมซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคสหภาพคริสเตียนเดโมแครต (CDU) ของอดีตนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล
หลังจากดำรงตำแหน่งมาเป็นเวลากว่า 3 ปี ชอลซ์ก็เข้าสู่วิกฤตเมื่อพรรคร่วมรัฐบาลสามพรรคที่ไร้การควบคุมของเขาล่มสลายเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่โดนัลด์ ทรัมป์ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอีกวาระ
ความวุ่นวายทางการเมืองส่งผลกระทบต่อเยอรมนี เนื่องจากต้องดิ้นรนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ชะงักงันซึ่งได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นและการแข่งขันทางการค้าที่รุนแรงจากจีน
รัฐบาลเบอร์ลินยังเผชิญกับความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์ครั้งใหญ่ เนื่องจากต้องเผชิญหน้ากับรัสเซียเกี่ยวกับสงครามยูเครน และการกลับมาของทรัมป์ที่จะทำให้ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนาโตและนโยบายการแข่งขันทางการค้าดุเดือดยิ่งขึ้น
ภัยคุกคามดังกล่าวเป็นประเด็นร้อนที่ถกเถียงกันอย่างดุเดือดระหว่างชอลซ์, เมิร์ซ และผู้นำพรรคอื่นๆ ก่อนการลงคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งผลปรากฏว่าสมาชิกรัฐสภา 207 คนแสดงความเชื่อมั่นในตัวชอลซ์ แต่เสียงส่วนใหญ่ 394 คนไม่เชื่อมั่นเขาอีกต่อไป โดยมี 116 คนงดออกเสียง
หลังจากที่ชอลซ์ได้สรุปแผนการใช้จ่ายมหาศาลด้านความมั่นคง, ธุรกิจ และสวัสดิการสังคม เมิร์ซได้จี้คำถามใส่เขาว่าเหตุใดเขาจึงไม่ดำเนินการดังกล่าวในช่วงเวลาที่ผ่านมา
ชอลซ์โต้แย้งว่ารัฐบาลของเขาได้เพิ่มการใช้จ่ายด้านกองกำลังติดอาวุธ ซึ่งรัฐบาลที่นำโดยพรรคสหภาพคริสเตียนเดโมแครตก่อนหน้านี้ได้ปล่อยให้อยู่ในสภาพที่น่าสังเวช
"ถึงเวลาแล้วที่จะลงทุนอย่างแข็งขันและเด็ดขาดในเยอรมนี" ชอลซ์กล่าว โดยเตือนเกี่ยวกับสงครามของรัสเซียในยูเครนว่า "มหาอำนาจนิวเคลียร์ที่มีอาวุธยุทโธปกรณ์คุณภาพสูงกำลังทำสงครามในยุโรป ซึ่งอยู่ห่างจากที่นี่เพียงสองชั่วโมงโดยเครื่องบิน"
แต่เมิร์ซโต้กลับว่า ชอลซ์นำประเทศไปสู่ "วิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งของยุคหลังสงคราม" จึงไม่สมควรได้รับความไว้วางใจอีกต่อไป
การทะเลาะเบาะแว้งระหว่างพันธมิตรรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาทางการคลังและเศรษฐกิจมาถึงจุดวิกฤตเมื่อชอลซ์สั่งปลดคริสเตียน ลินด์เนอร์ รัฐมนตรีคลังของพรรคประชาธิปไตยเสรี (FDP) ออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ส่งผลให้รัฐบาลผสมของเยอรมนีสิ้นสุดลง หลังจากเกิดการโต้เถียงทางการเมืองมานานหลายเดือน
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ชอลซ์ได้โจมตีลินด์เนอร์อีกครั้งเกี่ยวกับ "การทำตัวบ่อนทำลายรัฐบาลยาวนานหลายสัปดาห์" ซึ่งสุดท้ายก็ทำให้พรรคร่วมฯล่มสลายและชื่อเสียงก็เสียหายไปด้วย
การถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปไตยเสรี (FDP) จากประเด็นขัดแย้งดังกล่าว ทำให้ชอลซ์ต้องบริหารรัฐบาลเสียงข้างน้อยร่วมกับพรรคกรีนส์ จนนำไปสู่การดำเนินการอย่างไม่มีประสิทธิภาพ โดยไม่สามารถผ่านร่างกฎหมายสำคัญหรือจัดทำงบประมาณใหม่ได้
ทั้งนี้ ปัญหาของรัฐบาลเบอร์ลินเกิดขึ้นในขณะที่ฝรั่งเศสซึ่งเป็นพันธมิตรหลักของเยอรมนีในสหภาพยุโรป ก็กำลังเผชิญวิกฤตการณ์ของรัฐบาลเช่นกัน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สภาสหพันธ์ของเยอรมนีจะมีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งต้นปีหน้า
ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ปีหน้า พลเมืองในเยอรมนีจะมีการเลือกตั้งใหม่ ในวันนั้นพวกเขาจะเป็นคนกำหนดสภาสหพันธ์ (Bundes
'โอลาฟ ชอลซ์' เสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีของ 'คนธรรมดา'
สงครามยูเครน การอภิปรายปัญหาผู้ลี้ภัย การปกป้องสภาพภูมิอากาศ ฯลฯ เมื่อคำนึงถึงประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้งมากมายในสั