เจ้าหน้าที่กู้ภัยต้องแข่งกับเวลาเพื่อช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากเหตุพายุไซโคลนรุนแรงพัดถล่มมายอต ทำลายบ้านเรือนทั่วเกาะ และคาดว่ามีผู้เสียชีวิตหลายร้อยราย
แผ่นโลหะและเศษไม้กองรวมกันเนื่องจากอิทธิพลของพายุไซโคลนชิโดที่พัดถล่มเกาะมายอต ดินแดนของฝรั่งเศสในมหาสมุทรอินเดีย เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม (Photo by Daniel MOUHAMADI / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม 2567 กล่าวว่า พายุไซโคลน "ชิโด (Chido)" พัดถล่มเกาะมายอตซึ่งเป็นแคว้นและจังหวัดโพ้นทะเลของประเทศฝรั่งเศสเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ สร้างความเสียหายหนักให้บ้านเรือนและมีรายงานผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
วิกฤตที่ปะทุขึ้นหนึ่งวันหลังจากที่ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครงแต่งตั้งฟรองซัวส์ บายรูเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 6 ในวาระของเขา ถือเป็นความท้าทายครั้งสำคัญสำหรับรัฐบาลที่ยังคงดำเนินงานเพียงในฐานะผู้ดูแลเท่านั้น
รัฐมนตรีสาธารณสุขฝรั่งเศสระบุว่า พายุไซโคลนทำให้บริการด้านสุขภาพพังยับเยิน โดยโรงพยาบาลได้รับความเสียหายอย่างหนัก และศูนย์สุขภาพต้องหยุดให้บริการ
"โรงพยาบาลได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมสูงและถูกทำลายอย่างหนัก โดยเฉพาะในแผนกศัลยกรรม, แผนกไอซียู, แผนกสูตินรีเวช และแผนกฉุกเฉิน รวมทั้งศูนย์การแพทย์ที่หยุดให้บริการเช่นกัน" รัฐมนตรีสาธารณสุขกล่าว
ทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศสเปิดเผยว่า มาครงมีกำหนดเป็นประธานการประชุมวิกฤตดังกล่าวในกรุงปารีส เวลา 17.00 น. ขณะที่รัฐมนตรีมหาดไทยซึ่งรับผิดชอบดูแลมายอต ได้เดินทางไปยังเกาะดังกล่าวแล้ว
ทั้งนี้ พายุไซโคลนชิโดได้สร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับสนามบินของมายอต และตัดกระแสไฟฟ้า, น้ำ และการสื่อสาร หลังจากพัดถล่มดินแดนที่ยากจนที่สุดของฝรั่งเศสเมื่อวันเสาร์
เมื่อถูกถามถึงยอดผู้เสียชีวิตล่าสุด ฟรองซัวส์-ซาเวียร์ เบียววิลล์ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของมายอตที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลปารีสกล่าวกับสถานีโทรทัศน์ Mayotte la Premiere ว่า "ผมคิดว่าน่าจะมีผู้เสียชีวิตหลายร้อยรายอย่างแน่นอน บางทีอาจถึงเกือบพันรายหรืออาจถึงหลายพันรายก็ได้"
เนื่องจากถนนหนทางถูกปิดกั้น เจ้าหน้าที่จึงเกรงว่าผู้คนจำนวนมากอาจยังคงติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังในพื้นที่ที่เข้าถึงไม่ได้
อัมดิลวาเฮดู โซไมลา นายกเทศมนตรีเมืองมามูดซู เมืองหลวงของมายอต กล่าวกับเอเอฟพีว่า "โรงพยาบาลได้รับผลกระทบ, โรงเรียนได้รับผลกระทบ และบ้านเรือนได้รับความเสียหายอย่างหนักจนเกือบหมดหนทางช่วยเหลือ แม้จะมีทหารและนักดับเพลิงอีกประมาณ 160 นายเข้ามาช่วยเสริมกำลังให้กับทหาร 110 นายที่ประจำการอยู่แล้ว"
รัฐบาลฝรั่งเศสได้ใช้เกาะเรยูนียงซึ่งเป็นดินแดนที่อยู่ใกล้เคียงทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางสำหรับปฏิบัติการกู้ภัย
พายุชิโดมีความเร็วลมอย่างน้อย 226 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อพัดเข้าสู่มายอตซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของโมซัมบิก และผู้อยู่อาศัยอย่างน้อยหนึ่งในสามของจำนวนทั้งหมด 320,000 คนอาศัยอยู่ในชุมชนแออัดซึ่งบ้านเรือนถูกพายุพัดจนพังราบ
ในขณะที่ทางการกำลังประเมินขนาดของภัยพิบัติ มีการส่งเครื่องบินปฐมพยาบาลไปถึงมายอตในวันอาทิตย์ ร่วมกับเรือบรรทุกเวชภัณฑ์และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ 17 คน
คาดว่าเครื่องบินทหาร 2 ลำจะตามไปสมทบกับเที่ยวบินปฐมฤกษ์เพื่อช่วยเหลือ ขณะที่เรือตรวจการณ์ของกองทัพเรือก็จะออกเดินทางจากเกาะเรยูนียงเช่นกัน
มีคำมั่นสัญญาจากนานาชาติที่จะให้ความช่วยเหลือมายอต รวมถึงจาก 'PIROI' องค์กรกาชาดระดับภูมิภาค
ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวว่า ยุโรปพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เช่นเดียวกับองค์การอนามัยโลก
พายุชิโดเป็นลูกล่าสุดในบรรดาพายุหลายลูกทั่วโลกที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ตามคำกล่าวของผู้เชี่ยวชาญ
นักอุตุนิยมวิทยาจากสำนักงานอุตุนิยมวิทยาฝรั่งเศส กล่าวกับเอเอฟพีว่า พายุไซโคลนรุนแรงลูกนี้เกิดจากน้ำในมหาสมุทรอินเดียที่อุ่นเป็นพิเศษ
พายุชิโดพัดข้ามมหาสมุทรอินเดียและขึ้นฝั่งที่ประเทศโมซัมบิกเมื่อวันอาทิตย์ โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 3 ราย
สำนักงานกิจการมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) เตือนว่าประชาชน 1.7 ล้านคนกำลังตกอยู่ในอันตราย และพายุไซโคลนที่พัดกระหน่ำยังอาจทำให้ประเทศมาลาวีมีฝนตกหนักจนถึงวันจันทร์.