เอมมานูเอล มาครงแต่งตั้งฟรองซัวส์ บายรู เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยมอบหมายภารกิจอันยากลำบากในการนำฝรั่งเศสออกจากวิกฤตทางการเมืองที่ดำเนินมาหลายเดือน
ฟรองซัวส์ บายรู หัวหน้าพรรคขบวนการประชาธิปไตย (MoDem) ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม (Photo by Dimitar DILKOFF / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม 2567 กล่าวว่า ฟรองซัวส์ บายรู พันธมิตรสายกลางของประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของฝรั่งเศส
หัวหน้าพรรคขบวนการประชาธิปไตย (MoDem) วัย 73 ปี ซึ่งเป็นพันธมิตรกับพรรคของมาครง ได้รับการแต่งตั้งหลังจากรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีมีแชล บาร์นีเยถูกโค่นอำนาจด้วยการลงมติไม่ไว้วางใจครั้งประวัติศาสตร์โดยสมาชิกรัฐสภา อันเนื่องมาจากความตึงเครียดเกี่ยวกับงบประมาณรัดเข็มขัด
ทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศสออกแถลงการณ์ระบุว่า "ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐได้แต่งตั้งฟรองซัวส์ บายรู เป็นนายกรัฐมนตรี และมอบหมายให้เขาจัดตั้งรัฐบาล"
การประกาศดังกล่าวปิดฉากช่วงเวลาดราม่าหลายชั่วโมงที่บายรูถูกเรียกตัวไปประชุมตั้งแต่ตอนเช้าที่พระราชวังเอลิเซ ซึ่งรายงานระบุว่าตอนแรกมาครงจะเลือกบุคคลอื่น แต่สุดท้ายทำเนียบประธานาธิบดีก็ประกาศว่าบายรูได้รับตำแหน่ง
บายรูเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของปีนี้ และเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 6 ตลอดวาระการเป็นประธานาธิบดีสองสมัยของมาครง ขณะที่บาร์นีเยเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งสั้นที่สุดในฝรั่งเศส โดยดำรงตำแหน่งได้เพียงสามเดือนเท่านั้น
บายรูเผชิญกับความท้าทายทันทีในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีที่จะต้องผ่านมติไม่ไว้วางใจในรัฐสภา และในการจัดทำงบประมาณปี 2568 เพื่อจำกัดความวุ่นวายทางเศรษฐกิจ
ในพิธีส่งมอบตำแหน่งตามประเพณี บายรูประกาศว่า "ไม่มีใครรู้ดีไปกว่าผมถึงความยากลำบากของสถานการณ์" โดยที่ฝรั่งเศสกำลังเผชิญกับการขาดดุลงบประมาณที่พุ่งสูงขึ้นควบคู่ไปกับความไม่มั่นคงทางการเมือง
เขากล่าวถึงการขาดดุลงบประมาณซึ่งขณะนี้สูงถึง 6.1% ว่า "ผมตระหนักดีถึงเทือกเขาหิมาลัยที่ปรากฏอยู่ข้างหน้า"
เขายังให้คำมั่นว่าจะต่อสู้กับสิ่งที่เขาเรียกว่า "กำแพงกระจกที่ก่อตัวขึ้นระหว่างประชาชนกับรัฐ"
แหล่งข่าวหลายแห่งบอกกับเอเอฟพีว่า การประชุมระหว่างมาครงและบายรูในช่วงเช้ากลายเป็นเรื่องวุ่นวาย โดยประธานาธิบดีมีแนวโน้มที่จะแต่งตั้งเซบาสเตียน เลอคอร์นู รัฐมนตรีกลาโหมผู้จงรักภักดีต่อเขาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
แต่บายรูขู่ว่าจะตัดสัมพันธ์กับมาครง ทำให้มาครงตัดสินใจว่าควรเลือกบายรู เพื่อรักษาความเป็นพันธมิตรไว้
แหล่งข่าวกล่าวว่า เซบาสเตียน เลอคอร์นูควรเป็นคนที่ได้รับการเสนอชื่อ แต่มาครงจำเป็นต้องเปลี่ยนไปเลือกบายรู
บายรูจะได้รับมอบหมายให้เจรจากับกลุ่มการเมืองทั้งหมด ยกเว้นพรรครณรงค์แห่งชาติ (RN) ฝ่ายขวาจัดและพรรคฝรั่งเศสไม่ยอมก้มหัว (LFI) ฝ่ายซ้ายจัด เพื่อหาเงื่อนไขสำหรับเสถียรภาพและการดำเนินการทางการเมืองทั้งในและนอกสภา
ประธานาธิบดีต้องเผชิญกับสมการทางการเมืองที่ซับซ้อนตั้งแต่มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาแบบกะทันหันในเดือนกรกฎาคม นั่นคือจะรักษาการจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างไรเมื่อการลงมติไม่ไว้วางใจเกิดขึ้นในสภาล่างที่แตกแยกกันอย่างชัดเจน ซึ่งไม่มีพรรคการเมืองหรือพันธมิตรใดครองเสียงข้างมาก
มารีน เลอเปน ผู้นำฝ่ายขวาจัด ซึ่งร่วมมือกับฝ่ายซ้ายเพื่อโค่นล้มรัฐบาลของมีแชล บาร์นีเย กล่าวว่าพรรคของเธอจะยังไม่โค่นล้มรัฐบาลของบายรูในทันที แต่จะขอดูท่าทีก่อน ขณะที่ฝ่ายซ้ายจัดพร้อมยื่นญัตติไม่ไว้วางใจเพื่อให้ส่งผลกระทบและแรงกดดันไปสู่มาครง พร้อมยืนยันว่าจะไม่เข้าร่วมรัฐบาลหรือยอมรับตำแหน่งรัฐมนตรีใดๆ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โอลิมปิคส์กับนโยบายเศรษฐศาสตร์การเมืองของมาครง
ผมนั่งเชียร์กีฬาโอลิมปิคส์อยู่ที่บ้านแล้วอดที่จะคิดถึงมิติการเมืองระหว่างประเทศ และปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญหน้าประธานาธิบดีมาครงไม่ได้