ตำรวจเกาหลีใต้บุกค้นสำนักงานประธานาธิบดี ปะทะเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย

ตำรวจเกาหลีใต้นำกำลังบุกค้นสำนักงานของประธานาธิบดียุน ซ็อก-ยอล และปะทะกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่พยายามขัดขวาง เป็นเหตุให้พรรคฝ่ายค้านประณามเจ้าหน้าที่ของประธานาธิบดีว่าปกป้องผู้ก่อกบฏ

ภาพอาคารสำนักงานประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในกรุงโซล (Photo by JUNG YEON-JE / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 11 ธันวาคม 2567 กล่าวว่า เกิดการปะทะระหว่างตำรวจเกาหลีใต้กับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสำนักงานประธานาธิบดี จากความพยายามเข้าตรวจค้นสำนักงานดังกล่าว ในเหตุต่อเนื่องของการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อสัปดาห์ก่อน

ปัจจุบันประธานาธิบดียุน ซ็อก-ยอลถูกสั่งห้ามไม่ให้เดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสืบสวนในข้อหาก่อการกบฏจากการประกาศกฎอัยการศึกในช่วงสั้นๆ เมื่อวันที่ 3-4 ธันวาคม ซึ่งทำให้ประชาชนลุกฮือประท้วงจนถึงทุกวันนี้

ตำรวจกล่าวล่าสุดว่า "ทีมสอบสวนพิเศษกำลังหารือเกี่ยวกับการยึดและตรวจค้นสำนักงานประธานาธิบดี ร่วมกับเจ้าหน้าที่ประธานาธิบดีและหน่วยรักษาความปลอดภัย อยู่ในขณะนี้"

พรรคประชาธิปไตยซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลักได้เตือนว่า หากยังมีการขัดขวางการบังคับใช้กฎหมายต่อไป พรรคฯจะยื่นฟ้องดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่และหน่วยรักษาความปลอดภัยของประธานาธิบดีในข้อหาก่อกบฏด้วยเช่นกัน

ขณะที่เจ้าหน้าที่เรือนจำให้ข้อมูลว่า คิม ยง-ฮย็อน อดีตรัฐมนตรีกลาโหมพยายามฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จ ก่อนถูกจับกุมอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงค่ำวันอังคาร

คิม ซึ่งถูกกล่าวหาว่าแนะนำให้ยุนใช้กฎอัยการศึก ถูกควบคุมตัวครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ และต่อมาถูกจับกุมอย่างเป็นทางการในข้อหา "ปฏิบัติหน้าที่สำคัญระหว่างก่อกบฏ" และ "ใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อขัดขวางการใช้สิทธิ"

กระทรวงยุติธรรมและเจ้าหน้าที่เรือนจำกล่าวว่า ตอนนี้คิมอยู่ในสภาพปกติแล้ว

อดีตรัฐมนตรีมหาดไทยและนายพลทหารผู้รับผิดชอบปฏิบัติการกฎอัยการศึกก็ถูกห้ามไม่ให้เดินทางไปต่างประเทศเช่นกัน และมีการจับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงเพิ่มอีก 2 นาย

กระทรวงกลาโหม, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานสอบสวนการทุจริตสำหรับเจ้าหน้าที่ระดับสูงกล่าวว่า พวกเขาได้จัดตั้งหน่วยทำงานร่วมกันเพื่อให้การดำเนินการสืบสวนเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

จากการที่ประธานาธิบดีเกาหลีใต้อ้างถึงความจำเป็นในการประกาศกฎอัยการศึกเพราะต้องการปกป้องเกาหลีใต้จากภัยคุกคามของเกาหลีเหนือและกำจัดกลุ่มต่อต้านรัฐ

ล่าสุด สื่อของเกาหลีเหนือได้แสดงความเห็นเป็นครั้งแรกเมื่อวันพุธ

"เหตุการณ์ที่น่าตกใจของยุน ซ็อก-ยอล ซึ่งกำลังเผชิญกับการถูกถอดถอนและวิกฤตการปกครองจากการประกาศกฎอัยการศึกอย่างกะทันหันและปฏิบัติการณ์ในลักษณะเผด็จการฟาสซิสต์อย่างไม่ลังเล ได้ก่อให้เกิดความโกลาหลทั่วเกาหลีใต้" บทบรรณาธิการระบุ

ความสัมพันธ์ระหว่างสองเกาหลีอยู่ในจุดต่ำสุดในรอบหลายปี โดยเกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกลหลายลูกซึ่งถือเป็นการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของสหประชาชาติ

อดีตรัฐมนตรีกลาโหมคิมถูกสมาชิกรัฐสภาฝ่ายค้านกล่าวหาว่าเรียกร้องให้ทำการโจมตีสถานที่ที่เกาหลีเหนือส่งบอลลูนขยะข้ามพรมแดนมา แต่ผู้ใต้บังคับบัญชาของเขาปฏิเสธคำสั่งดังกล่าว

นอกจากนี้ คิมยังสั่งให้ส่งโดรนไปยังกรุงเปียงยาง ซึ่งดูเหมือนว่าส่อเจตนายั่วยุให้เกิดความขัดแย้งเพื่อเป็นข้ออ้างในการประกาศกฎอัยการศึก

ผู้ประท้วงหลายพันคนยังคงรวมตัวกันที่หน้ารัฐสภาเมื่อเย็นวันพุธ โดยร้องเพลงเคป๊อป, โบกแท่งเรืองแสงหลากสี และถือป้ายที่มีข้อความว่า "ยุบพรรคพลังประชาชนซึ่งสนับสนุนการก่อกบฏ" และ "ถอดถอนยุน ซ็อก-ยอล"

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ยุนรอดพ้นจากการลงมติถอดถอนในรัฐสภา ในขณะที่ชาวเกาหลีใต้หลายหมื่นคนต้องฝ่าอากาศหนาวจัดเพื่อเรียกร้องให้เขาลาออกจากตำแหน่ง

ตั้งแต่นั้นมา การประท้วงเล็กๆ น้อยๆ ก็ดำเนินต่อไปทุกเย็น โดยผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนยุนในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์

เมื่อวันอังคาร พรรคพลังประชาชนของยุนได้เสนอแผนให้ประธานาธิบดีลาออกในเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม ตามด้วยการเลือกตั้งใหม่ในเดือนเมษายนหรือพฤษภาคม แต่พรรคฯยังไม่ได้สรุปว่าจะนำแผนดังกล่าวไปใช้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านก็ยืนยันว่าจะดำเนินการถอดถอนยุนอีกครั้งวันเสาร์นี้ ในเวลาประมาณ 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น

ทั้งนี้ มติถอดถอนดังกล่าวจะต้องได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกพรรครัฐบาลอย่างน้อย 8 คน จึงจะได้เสียงข้างมาก 2 ใน 3 ที่จำเป็นสำเร็จการลงคะแนน

พรรคพลังประชาชนกล่าวว่า ยุน ซ็อก-ยอลยินยอมมอบอำนาจบริหารประเทศให้กับนายกรัฐมนตรีฮัน ด็อก-ซู และหัวหน้าพรรคฯฮัน ดง-ฮุน จนกว่าจะถึงวันที่เขาลาออก

ฝ่ายค้านท้วงว่าการกระทำดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเรียกว่าเป็น "การรัฐประหารครั้งที่สอง".

เพิ่มเพื่อน