มาครงประสานทรัมป์และเซเลนสกี ร่วมหารือเกี่ยวกับโลกที่ "บ้าระห่ำ" ในปารีส

ผู้นำฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพการเจรจาสามฝ่ายกับโวโลดีมีร์ เซเลนสกี และโดนัลด์ ทรัมป์ โดยร่วมหารือถึงสถานการณ์โลกที่ผู้นำสหรัฐคนต่อไปใช้คำว่า "บ้าระห่ำ"

ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส (กลาง), โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ (ซ้าย) และประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน โพสท่าถ่ายรูปก่อนการประชุมที่ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงปารีส เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม (Photo by HANDOUT / UKRAINIAN PRESIDENTIAL PRESS SERVICE / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม 2567 กล่าวว่า ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพการเจรจาสามฝ่ายร่วมกับประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน และโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กรุงปารีส

การพบกันระหว่างเซเลนสกีและทรัมป์ก่อนที่ทั้งสามคนจะมุ่งหน้าไปเข้าร่วมพิธีเปิดมหาวิหารนอเทรอดามอีกครั้ง ถือเป็นการพบกันแบบตัวต่อตัวครั้งแรก นับตั้งแต่ทรัมป์ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง

การประชุมครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเซเลนสกี เนื่องจากทรัมป์ซึ่งครั้งหนึ่งเคยโอ้อวดว่าเขาสามารถยุติสงครามของรัสเซียกับยูเครนได้ใน 24 ชั่วโมง อาจเรียกร้องให้ยูเครนยอมรับข้อเสนอจากปูติน

เช่นเดียวกับมาครงที่จะได้ทราบว่าการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีวาระที่สองของทรัมป์จะมีทิศทางต่อสถานการณ์โลกอย่างไร โดยการเยือนปารีสถือเป็นการเยือนต่างประเทศครั้งแรกของเขาตั้งแต่ได้รับชัยชนะเหนือกมลา แฮร์ริส ผู้สืบทอดของโจ ไบเดน

ในการพบปะ ทรัมป์กับมาครงโอบกอดและจับมือกันหลายครั้งบนบันไดทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศส โดยทรัมป์ได้รับการปรบมือแสดงความยินดีอย่างสมเกียรติแม้ว่าจะยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการก็ตาม

"ดูเหมือนว่าโลกกำลังบ้าระห่ำอยู่เล็กน้อยในตอนนี้ และเราจะมาพูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องนั้น" ทรัมป์กล่าวกับนักข่าวขณะเตรียมตัวหารือกับมาครง

แม้เคยมีความตึงเครียดระหว่างทั้งสองคนในช่วงวาระดำรงตำแหน่งรอบแรก แต่ทรัมป์ก็ยกย่องความสัมพันธ์ของเขากับผู้นำฝรั่งเศสสายกลางคนนี้ โดยกล่าวว่า "ทุกคนต่างก็รู้ดีว่าเรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาก เราบรรลุอะไรร่วมกันมามากมาย"

มาครงบอกกับทรัมป์ว่า "เป็นเกียรติอย่างยิ่งสำหรับชาวฝรั่งเศสที่ได้ต้อนรับคุณสำหรับพิธีเปิดครั้งใหม่ของนอเทรอดามซึ่งได้รับความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้เมื่อ 5 ปีก่อน

"ในตอนนั้นคุณเป็นประธานาธิบดี และผมจำความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นทันทีได้" มาครงกล่าว

เมื่อเขาเข้ารับตำแหน่งครั้งแรกในปี 2560 ความสัมพันธ์ระหว่างทรัมป์กับมาครงซึ่งในขณะนั้นเป็นหน้าใหม่บนเวทีโลกเช่นกัน เริ่มต้นขึ้นอย่างอบอุ่น แม้ว่าจะมีความแตกต่างทางการเมืองที่ชัดเจนก็ตาม

การจับมือที่ยาวนานและแข็งแรงของพวกเขากลายเป็นจุดสนใจไปทั่วโลก ก่อนที่ความสัมพันธ์จะเริ่มแย่ลง อันเนื่องมาจากข้อพิพาทเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, การค้า และการป้องกันประเทศ

การหารือร่วมกันในครั้งนี้คาดว่าจะเกี่ยวข้องกับสงครามในยูเครนและตะวันออกกลาง รวมถึงการค้าโลก

ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ได้เขียนไว้บนแพลตฟอร์ม Truth Social ว่าสหรัฐฯ ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสถานการณ์ในซีเรีย ซึ่งกองกำลังกบฏได้เริ่มปิดล้อมกรุงดามัสกัสแล้ว

การกลับมามีอำนาจอีกครั้งของทรัมป์ทำให้เกิดความกังวลในกรุงปารีสและเมืองหลวงหลายแห่งในยุโรป หลังจากที่เขาให้คำมั่นสัญญาระหว่างการหาเสียงว่าจะบังคับให้ยุติการสู้รบในยูเครน ซึ่งอาจหมายถึงการที่สหรัฐฯ จะระงับความช่วยเหลือทางทหารต่อรัฐบาลเคียฟ

เซเลนสกีเดินทางเข้าร่วมการเจรจาประมาณครึ่งชั่วโมงต่อมา โดยรีบเดินขึ้นบันไดทำเนียบฯและโพสท่าถ่ายรูปกับผู้นำอีกสองคน จากนั้นจึงประชุมร่วมกันประมาณ 35 นาที

ประธานาธิบดีของยูเครนได้เขียนบนโซเชียลมีเดียว่า การประชุมสามฝ่ายครั้งนี้เป็นไปด้วยดีและสร้างสรรค์

เขาเสริมว่า "เราทุกคนต้องการให้สงครามครั้งนี้ยุติลงโดยเร็วที่สุดและด้วยความยุติธรรม"

ขณะที่มาครงได้เขียนบนโซเชียลมีเดียว่า "ขอให้เราพยายามร่วมกันต่อไปเพื่อสันติภาพและความมั่นคง"

ในประเด็นวิกฤตตะวันออกกลาง พันธมิตรในยุโรปส่วนใหญ่คิดเห็นไปในทางเดียวกันกับประธานาธิบดีโจ ไบเดนที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่ง แต่ทรัมป์มีแนวโน้มที่จะขอแยกตัวจากปัญหาเหล่านั้น

การเดินทางไปเยือนปารีส 1 วันของทรัมป์ถือเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการที่เขาเดินทางมาพร้อมกับซูซี ไวลส์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว รวมถึงสตีฟ วิทคอฟฟ์ และมัสซาด บูลอส ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านตะวันออกใกล้และตะวันออกกลางของเขา

แหล่งข่าวในฝรั่งเศสเผยกับเอเอฟพีว่า อีลอน มัสก์ เจ้าพ่อเทสลาและที่ปรึกษาของทรัมป์ ได้บินมายังเมืองหลวงของฝรั่งเศสเช่นกันในฐานะผู้ได้รับเชิญให้เข้าร่วมพิธีเปิดนอเทรอดาม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เดนมาร์กกำลังเปลี่ยนตราแผ่นดินใหม่ พร้อมสื่อถึง 'โดนัลด์ ทรัมป์'

ภาพหมีขั้วโลกเป็นสัญญาณถึงทำเนียบขาว - สมเด็จพระราชาธิบดีเฟรเดอริกที่ 10 แห่งเดนมาร์ก ทรงเปลี่ยนตราแผ่นดินใหม่อีกครั้ง นับเป็นมิติใหม่ที่ส

กรีนแลนด์ ยืนหยัดคัดค้าน 'โดนัลด์ ทรัมป์'

ว่าที่ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ประกาศย้ำอีกครั้งว่า เขาต้องการควบคุมกรีนแลนด์ แต่ผู้นำรัฐบาลของเกาะมีปฏิกิริยาตอบโต้เรื่องนี้ด้วยคำพูดที่ชัดเ