ประธานาธิบดีฝรั่งเศสเตรียมหารือกับกลุ่มการเมืองต่างๆ เพื่อแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ หวังฝ่าวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ฝ่ายตรงข้ามเรียกร้องให้ลาออกและจัดการเลิอกตั้งใหม่
ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสกล่าวในแถลงการณ์ต่อประชาชน ระหว่างการถ่ายทอดสดจากทำเนียบประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม (Photo by Ludovic MARIN / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม 2567 กล่าวว่า ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสออกแถลงการณ์ผ่านการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ต่อประชาชนทั่วประเทศ หลังจากรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีมีแชล บาร์นีเยถูกโค่นอำนาจจากการลงมติไม่ไว้วางใจครั้งประวัติศาสตร์โดยสมาชิกรัฐสภาจากฝ่ายซ้ายจัดและฝ่ายขวาจัด
มาครงให้คำมั่นว่าจะแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า และใช้น้ำเสียงท้าทายในการปฏิเสธแรงกดดันจากฝ่ายค้านที่ต้องการให้เขาลาออกตามบาร์นีเย พร้อมกล่าวโทษ "แนวร่วมต่อต้านสาธารณรัฐ" ของฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาจัดว่าเป็นปัญหาของฝรั่งเศส
บาร์นีเยซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสได้เพียง 3 เดือน ประกาศลาออกหลังจากพ่ายแพ้ในรัฐสภาเมื่อวันพุธที่ผ่านมาด้วยประเด็นขัดแย้งด้านงบประมาณ ซึ่งถือเป็นการโค่นล้มรัฐบาลฝรั่งเศสครั้งแรกในรอบกว่า 60 ปี
"ผมจะแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีในอีกไม่กี่วันข้างหน้า" มาครงกล่าว พร้อมเสริมว่า ผู้นำคนใหม่จะมีหน้าที่จัดตั้งรัฐบาลเพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยมุ่งความสำคัญในการผ่านร่างงบประมาณปีหน้าให้ได้โดยเร็ว
ก่อนหน้านี้ ทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศสเคยกล่าวไว้ว่า บาร์นีเยและคณะรัฐมนตรีของเขาจะยังคงรับผิดชอบภารกิจตามปกติ จนกว่าจะมีการแต่งตั้งรัฐบาลชุดใหม่
ในวันศุกร์ มาครงจะพบกับผู้นำฝ่ายต่างๆ ในรัฐสภา ทั้งฝ่ายกลางของเขาเอง, พรรคสังคมนิยมฝ่ายซ้าย และพรรคอนุรักษนิยมฝ่ายขวา เพื่อดำเนินการหาทางประนีประนอมกันต่อไป
สองวันที่ผ่านมา สมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่สนับสนุนการลงมติไม่ไว้วางใจที่เสนอโดยฝ่ายซ้ายจัดและได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายขวาจัดที่นำโดยมารีน เลอเปน
การที่นายกรัฐมนตรีมีแชล บาร์นีเยถูกขับออกจากตำแหน่งอย่างรวดเร็วเกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้งกะทันหันในช่วงฤดูร้อนนี้ที่ไม่มีพรรคการเมืองใดมีเสียงข้างมากแบบเด็ดขาด และพรรคขวาจัดเป็นกุญแจสำคัญในการอยู่รอดของรัฐบาล
ปัจจัยที่กระตุ้นให้เขาต้องออกจากตำแหน่งคือ แผนงบประมาณปี 2568 ซึ่งเสนอมาตรการรัดเข็มขัดที่เสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาไม่ยอมรับ แต่เขาโต้แย้งว่ามาตรการดังกล่าวมีความจำเป็นเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินของฝรั่งเศส
เมื่อต้นสัปดาห์ เขาจึงเลือกใช้อำนาจพิเศษบังคับให้ผ่านร่างกฎหมายการเงินประกันสังคมโดยไม่มีการลงคะแนนเสียง ทำให้สมัชชาแห่งชาติต้องเปิดอภิปรายญัตติที่ฝ่ายซ้ายจัดนำเสนอ อันนำมาซึ่งการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลในท้ายที่สุด
ทั้งนี้ ฝรั่งเศสจะไม่สามารถจัดการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติใหม่ได้จนกว่าจะเว้นช่วงไปอีก 1 ปีหลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในปีนี้
ในส่วนของการเลือกตั้งประธานาธิบดี แม้ว่ามาครงจะยังเหลือวาระดำรงตำแหน่งอีกกว่า 2 ปี แต่ฝ่ายค้านบางคนเรียกร้องให้เขาลาออกเพื่อคลี่คลายภาวะอุดตันทางการเมืองที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า
จากการสำรวจความคิดเห็นของสื่อฝรั่งเศส ประชาชนต้องการให้ประธานาธิบดีลาออก สูงถึง 60% ในภาพรวม
แต่มาครงกล่าวว่า "วาระประชาธิปไตยของผมมีเวลา 5 ปี (นับจากปี 2565) และผมจะใช้วาระนี้ให้เต็มที่จนกว่าจะสิ้นสุด โดย 30 เดือนข้างหน้านี้ต้องเป็น 30 เดือนแห่งการดำเนินการที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ"
ฌอง-ลุค เมลองชง ผู้นำฝ่ายซ้ายจัดกล่าวว่า มาครงเป็นสาเหตุของปัญหาในฝรั่งเศส และจะจากไปเพราะแรงกระเพื่อมของสถานการณ์ ก่อนที่เขาจะหมดวาระ
บาร์นีเยเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 5 ของมาครงนับตั้งแต่ขึ้นสู่อำนาจในปี 2560 และนายกรัฐมนตรีแต่ละคนดำรงตำแหน่งในช่วงเวลาที่สั้นกว่าวาระที่ควรจะเป็น และเมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบของสมัชชาแห่งชาติแล้ว ก็ไม่มีการรับประกันว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่จะอยู่ได้ครบเทอม
คาดว่าผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีเพียงไม่กี่คน ได้แก่ เซบาสเตียน เลอคอร์นู รัฐมนตรีกลาโหมผู้จงรักภักดี, ฟรองซัวส์ บายรู พันธมิตรสายกลางของมาครง หรือไม่ก็แบร์นาร์ กาซเนิฟว์ อดีตนายกรัฐมนตรี.