สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรฝรั่งเศสลงมติขับไล่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีมีแชล บาร์นีเยที่ดำรงตำแหน่งได้เพียง 3 เดือน และการเคลื่อนไหวครั้งประวัติศาสตร์นี้ทำให้ประเทศตกอยู่ในความไม่แน่นอนทางการเมืองอีกครั้ง
นายกรัฐมนตรีมีแชล บาร์นีเย ของฝรั่งเศสกล่าวระหว่างการอภิปรายก่อนการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลของเขา ณ สมัชชาแห่งชาติในกรุงปารีส เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม (Photo by Alain JOCARD / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม 2567 กล่าวว่า เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 60 ปีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรฝรั่งเศสสามารถโค่นล้มรัฐบาลได้ โดยญัตติไม่ไว้วางใจที่เสนอโดยฝ่ายซ้ายจัดได้รับการสนับสนุนอย่างมีนัยสำคัญจากฝ่ายขวาจัดที่นำโดยมารีน เลอเปน
การที่นายกรัฐมนตรีมีแชล บาร์นีเยถูกขับออกจากตำแหน่งอย่างรวดเร็วเกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้งกะทันหันในช่วงฤดูร้อนนี้ที่ไม่มีพรรคการเมืองใดมีเสียงข้างมากแบบเด็ดขาด และพรรคขวาจัดเป็นกุญแจสำคัญในการอยู่รอดของรัฐบาล
นับเป็นการลงมติไม่ไว้วางใจครั้งแรกที่ประสบความสำเร็จ นับตั้งแต่ที่รัฐบาลของจอร์จ ปงปีดูพ่ายแพ้เมื่อปี 2505 ในสมัยที่ชาร์ล เดอ โกลดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และอายุขัยรัฐบาลของบาร์นีเยยังสั้นที่สุดเมื่อเทียบกับรัฐบาลชุดอื่นๆ นับตั้งแต่ก่อตั้งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 5 (สาธารณรัฐปัจจุบันของประเทศฝรั่งเศสที่ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2501)
ขณะนี้ ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครงจำเป็นต้องเฟ้นหานายกรัฐมนตรีคนใหม่อีกครั้ง และเขาจะกล่าวสุนทรพจน์ต่อประชาชนทั่วประเทศในเวลา 19.00 น. ของวันพฤหัสบดี
สืบเนื่องจากนายกรัฐมนตรีใช้อำนาจพิเศษบังคับให้ผ่านร่างกฎหมายการเงินประกันสังคมเมื่อวันจันทร์โดยไม่มีการลงคะแนนเสียง ทำให้สมัชชาแห่งชาติต้องเปิดอภิปรายญัตติที่ฝ่ายซ้ายจัดนำเสนอ เพื่อหารือเกี่ยวกับงบประมาณรัดเข็มขัดปีหน้า อันนำมาซึ่งการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลในท้ายที่สุด
ด้วยเสียงสนับสนุนมากถึง 331 เสียงจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรทั้งหมด 577 เสียง ทำให้การลงมติขับไล่รัฐบาลประสบผลสำเร็จ
ยาเอล บราวน์-ปิเวต์ ประธานรัฐสภายืนยันว่า ขั้นตอนต่อจากนี้มีแชล บาร์นีเยจะต้องยื่นใบลาออกต่อประธานาธิบดีมาครง และประกาศปิดสมัยประชุม
มาครงเพิ่งเดินทางกลับถึงปารีสก่อนการลงคะแนนเสียงไม่นาน หลังจากเสร็จสิ้นการเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการเป็นเวลา 3 วัน ซึ่งดูเหมือนว่าจะอยู่ห่างไกลจากวิกฤตภายในประเทศ
"ตอนนี้เรากำลังเรียกร้องให้มาครงออกจากตำแหน่งด้วยเช่นกัน" มาทิลเด ปาโนต์ หัวหน้าฝ่ายรัฐสภาของพรรคซ้ายจัด France Unbowed (LFI) กล่าวกับนักข่าว โดยเรียกร้องให้ "มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีก่อนกำหนด" เพื่อคลี่คลายวิกฤตทางการเมืองที่ลุกลาม
อย่างไรก็ตาม มารีน เลอเปน ผู้นำฝ่ายขวาจัดระมัดระวังที่จะไม่โอ้อวดเกี่ยวกับการล่มสลายของรัฐบาล โดยกล่าวในการให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ว่า เมื่อมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ พรรคของเธอจะปล่อยให้พวกเขาทำงาน และช่วยสร้าง "งบประมาณที่ทุกคนยอมรับได้"
ลอเรนต์ วาอูกีซ หัวหน้าส.ส.ฝ่ายขวาในรัฐสภา กล่าวว่า ฝ่ายขวาจัดและฝ่ายซ้ายจัดมีส่วนรับผิดชอบต่อการลงมติไม่ไว้วางใจ ซึ่งจะ "ทำให้ประเทศตกอยู่ในภาวะไม่มั่นคง"
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา มาครงได้ปฏิเสธคำเรียกร้องให้ลาออก โดยกล่าวว่าสถานการณ์ดังกล่าวเป็นเพียง "ความเพ้อฝันทางการเมือง"
ด้วยความที่ตลาดการลงทุนเกิดความวิตกและฝรั่งเศสเตรียมรับมือกับการหยุดงานของภาครัฐจากมาตรการลดค่าใช้จ่ายซึ่งจะส่งผลให้โรงเรียนต้องปิดทำการและส่งผลกระทบต่อการจราจรทางอากาศและทางรถไฟ จึงทำให้เกิดวิกฤตการณ์น่าวิตกหลายด้านเพิ่มมากขึ้น
สหภาพแรงงานได้เรียกร้องให้ข้าราชการ รวมถึงครูและเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศ ร่วมกันหยุดงานในวันพฤหัสบดี เพื่อประท้วงมาตรการลดต้นทุนที่กระทรวงต่างๆ ของแต่ละรัฐเสนอในฤดูใบไม้ร่วงปีนี้
ขณะเดียวกัน มาครงมีกำหนดจัดงานสำคัญระดับนานาชาติในวันเสาร์นี้ โดยจะมีการเปิดมหาวิหารนอเทรอดามอีกครั้งหลังจากเหตุเพลิงไหม้ในปี 2562 โดยมีแขกคนสำคัญมากมาย รวมถึงโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเดินทางมาต่างประเทศเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนต่อไป
ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองวิเคราะห์ว่า มารีน เลอเปนวัย 56 ปี กำลังพยายามโค่นล้มมาครงก่อนที่เขาจะหมดวาระ โดยใช้การขับไล่บาร์นีเยเป็นแรงกระตุ้น
เลอเปนกำลังพัวพันกับการพิจารณาคดียักยอกทรัพย์ซึ่งเป็นคดีที่ได้รับความสนใจจากสาธารณะ หากถูกตัดสินว่ามีความผิดในเดือนมีนาคม เธออาจถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสครั้งต่อไป
แต่หากมาครงลาออกในเร็วๆ นี้ จะต้องมีการประกาศการเลือกตั้งภายในหนึ่งเดือน ซึ่งอาจเร็วกว่าการตัดสินคดีของเธอ และมีโอกาสสูงที่เธอจะชนะเลึอกตั้ง
แหล่งข่าวหลายแห่งระบุว่า มาครงมีแผนที่จะแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่โดยเร็ว จากผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีเพียงไม่กี่คน เช่น เซบาสเตียน เลอคอร์นู รัฐมนตรีกลาโหมผู้จงรักภักดี, ฟรองซัวส์ บายรู พันธมิตรสายกลางของมาครง หรือไม่ก็แบร์นาร์ กาซเนิฟว์ อดีตนายกรัฐมนตรี.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มาครง และเนทันยาฮู ปะทะกันหลังเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพถูกโจมตีในเลบานอน
กองทัพอิสราเอลโจมตีฐานที่ตั้งของกองกำลัง ‘หมวกสีฟ้า’ ในเลบานอนหลายครั้ง ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่ง
ซีรีส์ดัง 'Emily in Paris' ได้นักแสดงรับเชิญระดับภริยาประธานาธิบดี
บริจิตต์ มาครง ภริยาของประธานาธิบดีแห่งฝรั่งเศส ผละออกจากคอมฟอร์ตโซนชั่วคราว เพื่อเข้าสู่ดินแดนที่เธอไม่คุ้นเคย นั่นคือแวดวงบันเทิง โดยเธ