อัยการศึกทำพิษ ประชาชนลุกฮือ ฝ่ายค้านยื่นถอดถอนประธานาธิบดีเกาหลีใต้

ฝ่ายค้านของเกาหลีใต้เคลื่อนไหวถอดถอนประธานาธิบดียุน ซ็อก-ยอล ภายหลังดำเนินการประกาศกฎอัยการศึกฉุกเฉินที่มีผลบังคับใช้เพียงไม่กี่ชั่วโมง ส่งผลให้ผู้ประท้วงหลายพันคนออกมาเดินขบวนบนท้องถนน

อี แจ-มย็อง ผู้นำฝ่ายค้านของเกาหลีใต้และหัวหน้าพรรคประชาธิปไตย (ยืนกลาง) กล่าวปราศรัยระหว่างการชุมนุมขับไล่ประธานาธิบดียุน ซ็อก-ยอล ที่หน้าอาคารรัฐสภาในกรุงโซล เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม (Photo by Jung Yeon-je / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 4 ธันวาคม 2567 กล่าวว่า ความพยายามอันน่าตกตะลึงของประธานาธิบดียุน ซ็อก-ยอลที่จะระงับการปกครองของพลเรือนเป็นครั้งแรกในรอบกว่าสี่ทศวรรษ ทำให้เกาหลีใต้ตกอยู่ในความโกลาหลอย่างหนักและทำให้ชาติพันธมิตรใกล้ชิดวิตกกังวล ก่อนสมาชิกรัฐสภาเข้ามาคลี่คลายด้วยการลงมติล้มล้างกฎอัยการศึกในค่ำคืนที่เต็มไปด้วยดราม่า

แม้ประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกไปแล้วก่อนรุ่งสาง แต่อนาคตทางการเมืองของยุนต่อจากนี้จะสั่นคลอนด้วยคำครหาและแรงกดดันสูงจากทั้งภาคการเมืองและประชาชน

พรรคฝ่ายค้านหลักของเกาหลีใต้ซึ่งสมาชิกรัฐสภากระโดดข้ามรั้วและต่อสู้กับกองกำลังความมั่นคงเพื่อฝ่าวงล้อมเข้าไปลงคะแนนเสียงในการล้มล้างกฎดังกล่าว ได้เคลื่อนไหวด้วยการยื่นญัตติถอดถอนยุน

"เราได้ยื่นญัตติถอดถอนอย่างเร่งด่วนแล้ว" คิม ยองมิน สมาชิกรัฐสภาจากพรรคประชาธิปไตย (ดีพี) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านกล่าว

ทั้งนี้ สมาชิกฝ่ายค้านทั้งหมดที่มีเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภายังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะลงมติเมื่อใด แต่คาดว่าจะลงมติได้เร็วที่สุดในวันศุกร์นี้

พรรคฝ่ายค้านครองเสียงข้างมากในรัฐสภา 190 คนจากทั้งหมด 300 คน และต้องการเพียงคะแนนบางส่วนจากพรรครัฐบาลเพื่อให้ได้เสียงข้างมากสองในสามที่จำเป็นในการผ่านญัตติถอดถอนดังกล่าว

ก่อนหน้านี้ พรรคประชาธิปไตย (ดีพี) กล่าวว่าจะยื่นฟ้องข้อหา "ก่อการกบฏ" ต่อประธานาธิบดี, รัฐมนตรีกลาโหม และรัฐมนตรีมหาดไทย รวมถึงบุคคลสำคัญในกองทัพและตำรวจที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้บัญชาการกฎอัยการศึก และผู้บัญชาการตำรวจ

สหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศยังเรียกร้องให้มีการ "หยุดงานประท้วงอย่างไม่มีกำหนด" เพื่อกดดันให้ยุนลาออกจากตำแหน่งโดยเร็ว

และแม้แต่ผู้นำพรรครัฐบาลของยุนเองยังกล่าวถึงความพยายามดังกล่าวว่าเป็น "โศกนาฏกรรม" พร้อมทั้งเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบ

การประกาศกฎอัยการศึกกลางดึกของประธานาธิบดียุน ซ็อก-ยอล โดยอ้างถึงปัญหาความมั่นคงเกี่ยวกับภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือที่มีกลุ่มฝ่ายค้านในรัฐสภาทำตัวเป็น "กองกำลังต่อต้านรัฐ" ตามมาด้วยการเคลื่อนกำลังทหารมากกว่า 280 นาย พร้อมด้วยรถเกราะและเฮลิคอปเตอร์ 24 ลำ มายังรัฐสภาเพื่อปิดล้อมสถานที่ดังกล่าว

แต่สมาชิกรัฐสภา 190 คนขัดขืนทหารที่พกปืนไรเฟิลและบุกเข้าไปในรัฐสภาเพื่อลงคะแนนเสียงคัดค้านการเคลื่อนไหวของประธานาธิบดี

ท้ายที่สุดกระบวนการทางรัฐสภาทำให้ประธานาธิบดีไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องถอนคำประกาศของตนเอง รวมทั้งกองกำลังภายใต้กฎอัยการศึกทั้งหมด เพราะรัฐธรรมนูญของประเทศระบุว่า กฎอัยการศึกจะต้องถูกยกเลิกเมื่อเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาเรียกร้อง

จนถึงตอนนี้ ประธานาธิบดียุน ซ็อก-ยอลยังไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณะอีกเลย

เกาหลีใต้เป็นประเทศพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐอเมริกา และมีทหารเกือบ 30,000 นายในประเทศเพื่อปกป้องตนเองจากเกาหลีเหนือซึ่งมีอาวุธนิวเคลียร์

ความวุ่นวายในกรุงโซลจึงทำให้รัฐบาลวอชิงตันแสดงความวิตกกังวลกับสถานการณ์ โดยทำเนียบขาวระบุว่าไม่ได้รับแจ้งล่วงหน้าเกี่ยวกับแผนการของผู้นำเกาหลีใต้ที่จะประกาศกฎอัยการศึก และยินดีกับการตัดสินใจยกเลิกในท้ายที่สุด

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า "เรายังคงคาดหวังว่าความขัดแย้งทางการเมืองจะได้รับการแก้ไขโดยสันติและสอดคล้องกับหลักนิติธรรม"

จีนซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของเกาหลีเหนือ เรียกร้องให้พลเมืองของตนในเกาหลีใต้อยู่ในความสงบและใช้ความระมัดระวัง ขณะที่ญี่ปุ่นกำลังเฝ้าติดตามสถานการณ์ด้วย "ความกังวลที่ร้ายแรงเป็นพิเศษ".

เพิ่มเพื่อน