ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ยอมถอยต่อกระบวนการรัฐสภา เตรียมยกเลิกกฎอัยการศึกที่เพิ่งประกาศใช้เพียงไม่กี่ชั่วโมงเพื่อปราบปรามสิ่งที่เขาเรียกว่า "กองกำลังต่อต้านรัฐ"
ประชาชนรวมตัวกันด้านนอกรัฐสภาในกรุงโซล เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม เพื่อต่อต้านการที่ประธานาธิบดียุน ซ็อก-ยอล ของเกาหลีใต้ประกาศกฎอัยการศึกฉุกเฉิน โดยอ้างถึงปัญหาความมั่นคงเกี่ยวกับภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือที่มีกลุ่มฝ่ายค้านในรัฐสภาทำตัวเป็น "กองกำลังต่อต้านรัฐ" (Photo by YONHAP / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 4 ธันวาคม 2567 กล่าวว่า ประธานาธิบดียุน ซ็อก-ยอล ของเกาหลีใต้ประกาศกฎอัยการศึกฉุกเฉิน โดยอ้างถึงปัญหาความมั่นคงเกี่ยวกับภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือที่มีกลุ่มฝ่ายค้านในรัฐสภาทำตัวเป็น "กองกำลังต่อต้านรัฐ" และผู้บัญชาการกองทัพบกเข้าประจำการในฐานะผู้บัญชาการกฎอัยการศึกที่อาคารรัฐสภา
หลังจากนั้นไม่นาน หน่วยทหารและตำรวจภายใต้กฎอัยการศึกที่เข้าควบคุมรัฐสภาได้ถอนกำลังออกทั้งหมด และเปิดทางให้บรรดาสมาชิกรัฐสภาได้เข้าประชุมด่วนเพื่อลงมติยับยั้งการใช้อำนาจของประธานาธิบดี
สมาชิกรัฐสภาราว 190 คน (จากทั้งหมด 300 คน) เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว และลงมติเป็นเอกฉันท์ทั้ง 190 เสียงเพื่อสนับสนุนญัตติขัดขวางการประกาศกฎอัยการศึกและเรียกร้องให้ยกเลิกทันที ตามบทบัญญัติภายใต้รัฐธรรมนูญของประเทศที่ว่า กฎอัยการศึกจะต้องถูกยกเลิกเมื่อเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาเรียกร้อง และการใช้อำนาจของทหารและตำรวจตามบทบัญญัติในกฏอัยการศึกจะถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
ด้วยเหตุดังกล่าว ยุน ซ็อก-ยอล จึงจำเป็นต้องยอมถอยและเตรียมยกเลิกกฏดังกล่าวที่ถูกประกาศอย่างไม่คาดคิด ซึ่งแม้แต่พันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของเกาหลีใต้ทั่วโลกยังตั้งตัวไม่ติด
ก่อนหน้านี้ รัฐสภาถูกปิดตาย และทหารได้เข้าไปในอาคารเป็นเวลาสั้นๆ ในขณะที่ผู้ประท้วงหลายร้อยคนรวมตัวกันอยู่ด้านนอกและเผชิญหน้ากับกองกำลังรักษาความปลอดภัย
"เมื่อสักครู่นี้ รัฐสภาได้เรียกร้องให้ยกเลิกภาวะฉุกเฉิน เราจึงได้ถอนทหารที่ประจำการเพื่อปฏิบัติการตามกฎอัยการศึกออกไปแล้ว"
"เราจะยอมรับคำขอของรัฐสภาและยกเลิกกฎอัยการศึกผ่านการประชุมคณะรัฐมนตรี" ยุนกล่าวในการแถลงทางโทรทัศน์เมื่อเวลาประมาณ 04.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น (02.30 น. ตามเวลาประเทศไทย)
สำนักข่าวยอนฮัปรายงานว่า คณะรัฐมนตรีของยุนได้ลงมติอนุมัติญัตติยกเลิกกฎอัยการศึกแล้ว เหลือแค่ขั้นตอนการประกาศของประธานาธิบดี
การกลับลำดังกล่าวทำให้ผู้ประท้วงหน้ารัฐสภาดีใจกันมาก เนื่องจากพวกเขาฝ่าฝืนกฎอัยการศึกที่ประกาศใช้ตลอดคืน
ผู้ประท้วงโบกป้ายและธงชาติเกาหลีใต้และตะโกนว่า "จับกุมยุน ซ็อก-ยอล" นอกรัฐสภา ขณะที่บางส่วนโห่ร้องยินดี ซึ่งแสดงให้เห็นได้ชัดว่าประชาชนไม่เห็นด้วยกับการกระทำของประธานาธิบดี
ประชาชนรายหนึ่งกล่าวกับเอเอฟพีว่า การตัดสินใจยกเลิกกฎอัยการศึกของยุนไม่ได้ทำให้เขาพ้นผิด
"การกระทำของยุนที่บังคับใช้กฎอัยการศึกตั้งแต่แรกโดยไม่มีเหตุผลอันชอบธรรมถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรงในตัวมันเอง และจะปูทางไปสู่การถูกถอดถอนเขาด้วยเรื่องนี้อย่างแน่นอน" ประชาชนกล่าว
ยุนได้ให้เหตุผลหลายประการในการตัดสินใจประกาศใช้กฎอัยการศึก ซึ่งเป็นครั้งแรกของเกาหลีใต้ในรอบกว่า 40 ปี
"เพื่อปกป้องเกาหลีใต้ที่เป็นประเทศเสรีนิยมจากภัยคุกคามของกองกำลังคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือ และเพื่อกำจัดกลุ่มต่อต้านรัฐที่ขโมยอิสรภาพและความสุขของประชาชนไป ผมขอประกาศกฎอัยการศึกฉุกเฉิน" ยุนกล่าวในการแถลงต่อประเทศชาติผ่านการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์
ยุนไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับภัยคุกคามของเกาหลีเหนือ แต่ทางเทคนิคแล้ว เกาหลีใต้ยังคงอยู่ในภาวะสงครามกับเพื่อนบ้านทางเหนือซึ่งมีอาวุธนิวเคลียร์
"สมัชชาแห่งชาติของเราได้กลายเป็นที่หลบภัยของอาชญากร, เป็นแหล่งกบดานของเผด็จการนิติบัญญัติที่พยายามทำให้ระบบตุลาการและการบริหารประเทศหยุดชะงัก และล้มล้างระเบียบประชาธิปไตยเสรีนิยมของเรา" ยุนกล่าวเสริม
ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ได้ใช้คำเรียกฝ่ายค้านซึ่งครองเสียงข้างมากในรัฐสภาจากทั้งหมด 300 คนว่าเป็น "กองกำลังต่อต้านรัฐที่ตั้งใจจะโค่นล้มระบอบการปกครอง"
เขายังกล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า เกาหลีใต้อยู่ในภาวะใกล้จะล่มสลาย โดยที่สมัชชาแห่งชาติทำหน้าที่เป็นตัวการที่ตั้งใจจะโค่นล้มประชาธิปไตยเสรีนิยม
พรรคพลังประชาชนของยุน และพรรคประชาธิปไตยซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลักมีความเห็นไม่ลงรอยกันอย่างรุนแรงเกี่ยวกับงบประมาณปีหน้า
ยุนกล่าวหาสมาชิกรัฐสภาฝ่ายค้านว่า ตัดงบประมาณสำคัญทั้งหมดที่จำเป็นต่อการทำงานหลักของประเทศ เช่น การปราบปรามอาชญากรรมยาเสพติดและการรักษาความปลอดภัยสาธารณะ จนทำให้ประเทศกลายเป็นแหล่งหลบภัยของยาเสพติดและสั่นคลอนสถานการณ์ความปลอดภัยสาธารณะ
การประกาศกฎอัยการศึกฉุกเฉินเกิดขึ้นในขณะที่คะแนนนิยมของยุนลดลงเหลือ 19% ในการสำรวจความคิดเห็นล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยประชาชนจำนวนมากแสดงความไม่พอใจต่อการจัดการปัญหาเศรษฐกิจของเขา รวมทั้งประเด็นอื้อฉาวที่เกี่ยวข้องกับคิม กอนฮี ผู้เป็นภริยาและสตรีหมายเลขหนึ่งของเกาหลีใต้
การกระทำดังกล่าวยังทำให้อนาคตของยุนซึ่งเป็นอดีตอัยการสูงสุดและนักการเมืองสายอนุรักษนิยมที่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในปี 2565 ตกอยู่ในอันตราย
พรรคฝ่ายค้านหลักของเกาหลีใต้ซึ่งสมาชิกรัฐสภากระโดดข้ามรั้วและต่อสู้กับกองกำลังความมั่นคงเพื่อฝ่าวงล้อมเข้าไปลงคะแนนเสียงในการล้มล้างกฎดังกล่าว เรียกร้องให้ยุนลาออกทันทีจากความพยายามที่ถูกตราหน้าว่าเป็นการ "ก่อกบฏ"
สหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศยังเรียกร้องให้มีการ "หยุดงานประท้วงทั้งประเทศอย่างไม่มีกำหนด" จนกว่ายุนจะลาออก
และแม้แต่ผู้นำพรรครัฐบาลของยุนเองยังกล่าวถึงความพยายามดังกล่าวว่าเป็น "โศกนาฏกรรม" พร้อมทั้งเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบ.