นี่เป็นการเยือนครั้งที่สองของนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มสงครามในยูเครน และเป็นการเดินทางเยือนที่ทำให้เกิดคำถาม
นายกรัฐมนตรีของเยอรมนีเดินทางถึงกรุงเคียงเมื่อเช้าวันจันทร์ ในการเยือนเมืองหลวงของยูเครนครั้งนี้ นักการเมืองสังกัดพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี (SPD) ต้องการทำให้ชัดเจนว่า เยอรมนียังคงยืนหยัดอยู่ข้างยูเครน “เป็นเวลากว่า 1,000 วันที่ยูเครนปกป้องตัวเองอย่างกล้าหาญจากสงครามรุกรานของรัสเซีย” ชอลซ์กล่าวเมื่อเดินทางไปถึง เขาต้องการแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันกับยูเครนด้วยการมาเยือนช่วงสั้นๆ “เยอรมนีจะยังคงเป็นผู้สนับสนุนยูเครนที่แข็งแกร่งที่สุดในยุโรป” พร้อมกันนั้นยังให้สัญญาว่าจะส่งมอบอาวุธอย่างรวดเร็ว
“ในการพบปะกับประธานาธิบดีเซเลนสกี ผมประกาศส่งมอบอาวุธยุทโธปกรณ์มูลค่า 650 ล้านยูโรเพิ่มเติม ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในเดือนธันวาคมนี้” นายกรัฐมนตรีชอลซ์กล่าว ยูเครนสามารถพึ่งพาเยอรมนีได้ “เราพูดในสิ่งที่เราทำ และเราทำในสิ่งที่เราพูด”
การสนทนาระหว่างชอลซ์และเซเลนสกีมีแนวโน้มว่าจะเกี่ยวข้องกับการเจรจาที่เป็นไปได้เพื่อยุติสงคราม โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ได้ประกาศว่าเขาสามารถยุติสงครามในยุโรปตะวันออกโดยเร็วที่สุด ทั้งเคียฟและเบอร์ลินต่างมีความกังวลว่าทรัมป์อาจกำหนดเงื่อนไขในการยุติสงครามแบบข้ามหัวชาวยูเครนและชาวยุโรป
ไม่นานมานี้ชอลซ์เคยอภิปรายหลายครั้งเกี่ยวกับอนาคตของยูเครน สงครามในประเทศนี้เคยเป็นหัวข้อสนทนาเมื่อครั้งให้การต้อนรับประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ของอังกฤษ และประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส ชอลซ์แจ้งกับผู้นำทั้งสามว่าเขาต้องการพูดคุยกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินทางโทรศัพท์ในไม่ช้า การโทรดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน แต่ไม่บรรลุผลใดๆ ตามที่ชอลซ์กล่าวยอมรับในเวลาต่อมา ความพยายามของชอลซ์ในการกำหนดให้สงครามยูเครนเป็นวาระการประชุมสุดยอด G20 เมื่อสองสัปดาห์ก่อนในบราซิลก็ไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน นายกรัฐมนตรีเยอรมนีค้นพบว่าโลกส่วนใหญ่หาได้สนใจสงครามในยูเครนเป็นพิเศษไม่
ตรงกันข้ามกับเยอรมนี ที่สงครามในยูเครนกลับมาเป็นข่าวใหญ่อีกครั้ง ในแง่หนึ่งอาจเป็นเพราะเมื่อเร็วๆ นี้รัสเซียประกาศจะขยายการโจมตีทางอากาศอย่างมีนัยสำคัญ อันจะทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อระบบไฟฟ้าและพลเรือนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ในอีกแง่หนึ่ง การปรากฏของสงครามอาจมีบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งรัฐบาลกลางที่กำลังจะเริ่มในอีกไม่ช้านี้
การเดินทางไปยูเครนของโอลาฟ ชอลซ์เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ทำให้เกิดคำถาม ในอีกสองสัปดาห์พรรค SPD จะขอให้รัฐสภากลางลงมติไว้วางใจ(หรือไม่วางใจ) การเลือกตั้งครั้งใหม่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ และโอกาสของชอลซ์ที่จะได้รับการเลือกเข้ามารับตำแหน่งอีกครั้งยังไม่ค่อยดีนัก การเดินทางเยือนยูเครนอย่างฉุกละหุกครั้งนี้จึงชัดเจนว่าอาจมีจุดประสงค์เพื่อการหาเสียง.