ยอดผู้เสียชีวิตจากพายุไซโคลนเฟนญาลที่พัดถล่มศรีลังกาและอินเดียตอนใต้พุ่งขึ้นเป็น 20 ราย โดยเกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมตามมาหลังจากกระแสลมสงบลง
ผู้ประสบภัยอพยพผ่านเส้นทางถนนที่ถูกน้ำท่วมเพราะฝนตกหนักในปูดูเชอร์รี ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม (Photo by AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม 2567 กล่าวว่า พายุไซโคลน 'เฟนญาล' พัดถล่มศรีลังกาและอินเดียตอนใต้ ทำให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมตามมา
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา พายุลูกดังกล่าวพัดขึ้นฝั่งในรัฐทมิฬนาฑูของอินเดีย ส่งผลให้มีปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงสูงสุดในรอบ 30 ปีที่เมืองปูดูเชอร์รีที่อยู่ใกล้เคียง ก่อนจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำในเช้าวันจันทร์
มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นในศรีลังกาหลังจากที่พายุเฟนญาลเคลื่อนผ่านเมื่อวันศุกร์ และส่งผลให้มีฝนตกหนักจนเกิดดินถล่ม
สำนักงานจัดการภัยพิบัติของศรีลังกาเปิดเผยว่ามีผู้เสียชีวิตในประเทศรวม 17 ราย ขณะที่ประชาชนอีกเกือบ 470,000 คนต้องอพยพมาอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว
รัฐมนตรีกระทรวงจัดการภัยพิบัติของรัฐทมิฬนาฑูกล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อช่วงค่ำวันเสาร์ว่า อินเดียพบผู้เสียชีวิตจากไฟฟ้าช็อต 3 ราย
เขาไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสาเหตุของการเสียชีวิตเหล่านี้ โดยเสริมว่าความเสียหายจากพายุไซโคลนนั้น "เล็กน้อย"
สื่อท้องถิ่นรายงานเมื่อวันจันทร์ว่า สำนักงานจัดการภัยพิบัติของอินเดียพยายามช่วยเหลือสมาชิกครอบครัว 7 คนที่คาดว่าติดอยู่ในดินถล่มในรัฐดังกล่าว
ถนนหลายสายถูกน้ำท่วมและโรงเรียนหลายแห่งในภาคใต้ของอินเดียถูกสั่งปิด โดยเจ้าหน้าที่พยากรณ์อากาศเตือนเมื่อวันจันทร์ว่ายังคงมีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน
พายุไซโคลนซึ่งเทียบเท่ากับพายุเฮอริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือหรือพายุไต้ฝุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงและเกิดขึ้นเป็นประจำในมหาสมุทรอินเดียตอนเหนือ
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าพายุจะรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากโลกร้อนขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล
บรรยากาศที่อุ่นขึ้นยังช่วยให้พายุกักเก็บน้ำไว้ได้มากขึ้น ส่งผลให้ฝนตกมากขึ้น ดังนั้นการพยากรณ์ที่ดีขึ้นและการวางแผนอพยพที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นจะช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้อย่างมาก.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จับตา 'พายุไซโคลน' อ่าวเบงกอล กระทบจังหวัดแนวขอบตะวันตกไทย
กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า จากภาพถ่ายดาวเทียมล่าสุดเวลา 08.30 น. : ติดตามหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณอ่าวเบงกอล มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้น
ภาคใต้ระวังฝนตกหนัก จับตาพายุไซโคลน 'ฮอมูน'
กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเล