อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศยื่นขอหมายจับหัวหน้าคณะรัฐประหารเมียนมา

อัยการสูงสุดของศาลอาญาระหว่างประเทศได้ขอให้ผู้พิพากษาออกหมายจับมิน อ่อง หล่าย หัวหน้าคณะรัฐประหารเมียนมา ในข้อหาก่ออาชญากรรมต่อชาวมุสลิมโรฮีนจา

มิน อ่อง หล่าย หัวหน้าคณะรัฐประหารเมียนมา (Photo by Sergei BOBYLYOV / TASS Host Photo Agency / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน 2567 กล่าวว่า คาริม ข่าน อัยการสูงสุดของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ได้ยื่นคำร้องต่อผู้พิพากษาขอออกหมายจับมิน อ่อง หล่าย หัวหน้าคณะรัฐประหารเมียนมา ด้วยข้อกล่าวหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

คำร้องของข่านต่อผู้พิพากษาของศาลที่กรุงเฮก ถือเป็นคำร้องครั้งแรกเพื่อออกหมายจับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลเมียนมาในความเชื่อมโยงกับการละเมิดชาวมุสลิมโรฮีนจา

"หลังจากการสอบสวนอย่างครอบคลุม, เป็นอิสระ และเที่ยงธรรม สำนักงานอัยการได้สรุปว่ามีเหตุผลอันสมควรที่จะเชื่อว่าพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย มีความรับผิดทางอาญาสำหรับอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ" ข่านกล่าวในแถลงการณ์

อาชญากรรมดังกล่าวรวมถึงการเนรเทศและการกดขี่ข่มเหง ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำระหว่างวันที่ 25 สิงหาคม ถึง 31 ธันวาคม 2560

คณะทหารเมียนมาปฏิเสธคำร้องของอัยการ โดยกล่าวว่า เมียนมาไม่ได้เป็นสมาชิกของศาลอาญาระหว่างประเทศ คำแถลงใดๆจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับ

ในปี 2562 อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศได้เปิดการสอบสวนเกี่ยวกับอาชญากรรมต้องสงสัยที่กระทำต่อชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ของเมียนมาในปี 2559 และ 2560 อันส่งผลให้ชาวมุสลิมกลุ่มน้อย 750,000 คนจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อพยพไปยังบังกลาเทศซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน

ชาวโรฮีนจาราวหนึ่งล้านคนอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยใกล้กับค็อกซ์บาซาร์ซึ่งเป็นเมืองชายแดนของบังกลาเทศ โดยผู้อพยพเหล่านั้นกล่าวหาว่ากองทัพเมียนมาสังหารหมู่และล่วงละเมิดทางเพศ

ข่านกล่าวว่า อาชญากรรมที่ถูกกล่าวหานั้นกระทำโดยกองทัพทหารหรือกองกำลังติดอาวุธของเมียนมาซึ่งได้รับการสนับสนุนจากตำรวจแห่งชาติและตำรวจตระเวนชายแดน รวมถึงพลเมืองที่ไม่ใช่ชาวโรฮีนจา

ข่านกล่าวว่า "นี่เป็นการยื่นคำร้องครั้งแรกเพื่อขอหมายจับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลเมียนมา และน่าจะมีอีกมากตามมา"

เมียนมาเผชิญกับความขัดแย้งระหว่างกองทัพและกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ที่ต่อต้านการปกครองของรัฐบาลทหาร นับตั้งแต่กองทัพขับไล่รัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งของอองซานซูจีออกจากตำแหน่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564

กองทัพกำลังเผชิญกับการโจมตีครั้งใหญ่ของกลุ่มกบฏเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งยึดครองพื้นที่บริเวณกว้างส่วนใหญ่ใกล้กับชายแดนจีน

เมื่อต้นเดือน มิน อ่อง หล่ายกล่าวกับนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียงของจีนว่า กองทัพพร้อมสำหรับสันติภาพ หากกลุ่มติดอาวุธเข้าร่วม ตามรายงานการประชุมที่เผยแพร่โดยสื่อของรัฐเมียนมา

การปราบปรามทางทหารในเมียนมาเมื่อปี 2560 ทำให้ชาวโรฮีนจาหลายแสนคนต้องหลบหนีไปยังบังกลาเทศซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน โดยหลายคนเล่าถึงเรื่องราวที่น่าสยดสยองเกี่ยวกับการฆาตกรรม, การข่มขืน และวางเพลิง

ชาวโรฮีนจาที่ยังคงอยู่ในเมียนมาถูกปฏิเสธสิทธิการเป็นพลเมืองและการเข้าถึงการรักษาพยาบาล และต้องขออนุญาตหากต้องการเดินทางออกนอกเขตเมืองของตน

ผู้พิพากษาของศาลอาญาระหว่างประเทศต้องพิจารณาว่าจะออกหมายจับหรือไม่ หากออกหมายจับแล้ว สมาชิกศาลอาญาระหว่างประเทศ 124 ชาติจะต้องจับกุมหัวหน้าคณะรัฐประหารเมียนมาทันที หากเขาเดินทางไปยังประเทศของหนึ่งในสมาชิก

อย่างไรก็ตาม ประเทศจีนซึ่งเป็นพันธมิตรหลักและซัพพลายเออร์อาวุธของคณะรัฐประหารที่ปกครองเมียนมา ไม่ใช่สมาชิกของศาลอาญาระหว่างประเทศ

คำร้องของข่านเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากที่ศาลอาญาระหว่างประเทศออกหมายจับนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล, อดีตรัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล และผู้นำระดับสูงของกลุ่มฮามาสในคดีสงครามฉนวนกาซา

กลุ่มสิทธิมนุษยชนชื่นชมการกระทำของข่านต่อกรณีเมียนมา โดยกล่าวว่าเป็นก้าวสำคัญในการทำลายวงจรของการละเมิดและการละเว้นโทษ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญมาช้านานที่ทำให้กองทัพละเมิดกฎหมายอย่างร้ายแรง

"ผู้พิพากษาจะตัดสินตามคำร้องของอัยการ แต่ประเทศสมาชิกของศาลอาญาระหว่างประเทศควรตระหนักถึงการกระทำนี้ เพื่อเตือนใจถึงบทบาทสำคัญของศาลฯเมื่อประตูสู่ความยุติธรรมอื่นๆ ถูกปิดลง" มาเรีย เอเลน่า วิญโญลี ทนายความอาวุโสระดับนานาชาติจากฮิวแมนไรต์วอตช์กล่าว

ทั้งนี้ ศาลอาญาระหว่างประเทศในกรุงเฮกเปิดทำการในปี 2545 และเป็นศาลอิสระที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสอบสวนและดำเนินคดีผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมร้ายแรงต่อมนุษยชาติ.

เพิ่มเพื่อน