บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ โททาลเอนเนอร์ยีส์ จากฝรั่งเศส และบริษัท เชฟรอน จากสหรัฐ ประกาศในเวลาไล่เลี่ยกันเมื่อวันศุกร์ว่าจะถอนตัวออกจากแหล่งก๊าซยาดานาของเมียนมา ที่ผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่ป้อนให้ไทย โดยอ้างสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ "เลวร้ายลง"
รายงานของสำนักข่าวเอเอฟพีเมื่อวันศุกร์ที่ 21 มกราคม 2565 กล่าวว่า บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่จากโลกตะวันตกเผชิญแรงกดดันให้ตัดความสัมพันธ์ทางการเงินกับรัฐบาลทหารเมียนมานับตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของนางอองซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 โดยข้อมูลจากองค์กรเอกชนท้องถิ่นอ้างว่า การปราบปรามการประท้วงต่อต้านที่เกิดตามมาหลังจากนั้น ทำให้พลเรือนเสียชีวิตมากกว่า 1,400 คน
คำแถลงของบริษัท โททาลเอนเนอร์ยีส์ เมื่อวันศุกร์กล่าวว่า สถานการณ์ในเมียนมา ทั้งในแง่สิทธิมนุษยชน และด้านหลักนิติธรรมโดยทั่วไป ยังคงเลวร้ายลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทต้องประเมินสถานการณ์ใหม่ และทำให้โททาลเอนเนอร์ยีส์ไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในเชิงบวกอย่างเพียงพอในประเทศนี้ได้อีกต่อไป
โททาลเอนเนอร์ยีส์จะถอนตัวจากแหล่งก๊าซยาดานาในทะเลอันดามัน ซึ่งผลิตไฟฟ้าส่งให้ชาวพม่าและชาวไทย อย่างช้าที่สุดภายในเวลา 6 เดือนหลังจากหมดสัญญา
ไม่นานหลังคำประกาศของโททาล บริษัท เชฟรอน จากสหรัฐก็ออกแถลงการณ์ว่า บริษัทจะถอนตัวออกจากแหล่งผลิตก๊าซยาดานาของเมียนมาเช่นกัน เนื่องจากสถานการณ์ด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน "เลวร้ายลง"
เชฟรอนมีบริษัทลูก คือ ยูโนแคลเมียนมาออฟชอร์ ดำเนินกิจการในเมียนมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 โดยถือหุ้นส่วนน้อยที่ไม่เกี่ยวกับการดำเนินงานในโครงการยาดานา
องค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรต์วอตช์ กล่าวว่า โครงการผลิตก๊าซธรรมชาติเป็นแหล่งรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศแหล่งใหญ่ที่สุดแหล่งเดียวของเมียนมา แต่ละปีสร้างรายได้มากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ดี โททาลกล่าวว่า บริษัทไม่พบหนทางใดที่จะแซงก์ชันรัฐบาลทหารเมียนมาโดยไม่ต้องหลีกเลี่ยงการหยุดผลิตก๊าซและจ่ายเงินให้แก่บริษัท น้ำมันและก๊าซเมียนมา (MOGE) ที่ควบคุมโดยกองทัพเมียนมาได้
เมื่อปีที่แล้ว โททาลประกาศว่า บริษัทได้ระงับการจ่ายเงินสดให้แก่บริษัท ขนส่งก๊าซเมาะตะมะ (MGTC) ที่ร่วมทุนกับกองทัพเมียนมา
งบการเงินของโททาลเปิดเผยว่า บริษัทจ่ายเงินประมาณ 230 ล้านดอลลาร์ให้ทางการเมียนมาเมื่อปี 2562 และอีก 176 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2563 ในรูปของภาษีและ "สิทธิในการผลิต"
คำแถลงเมื่อวันศุกร์ โททาลกล่าวว่า บริษัทพยายามจำกัดกระแสการเงินที่ MOGE ได้รับตราบเท่าที่เป็นไปได้ในสาระสำคัญและถูกต้องตามกฎหมาย แต่มันเป็นไปไม่ได้ในสาระสำคัญที่จะป้องกันกระแสรายได้ เนื่องจากบริษัท ปตท. ของไทย เป็นผู้จ่ายค่าก๊าซเป็นส่วนใหญ่
ข้อมูลของโททาลเอเนอร์ยีส์กล่าวว่า ราว 30% ของก๊าซที่ผลิตได้จากแหล่งยาดานาขายให้แก่ MOGE สำหรับใช้ในประเทศ โดยเป็นแหล่งไฟฟ้าราวครึ่งหนึ่งของนครย่างกุ้ง ที่เหลือราว 70% ส่งออกมาไทย โดยขายให้แก่ ปตท.
โททาลเอเนอร์ยีส์ดำเนินงานแหล่งก๊าซแห่งนี้ ซึ่งผลิตก๊าซปีละประมาณ 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตร มาตั้งแต่ปี 2535
นับแต่รัฐประหาร ประชาคมระหว่างประเทศกดดันทางการทูตและคว่ำบาตรรัฐบาลทหารเมียนมา โดยสหรัฐ, แคนาดา, สหภาพยุโรป และอังกฤษ คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแบบเจาะจงเป้าหมายต่อกองทัพเมียนมา, ผู้นำทหาร และหน่วยงานองค์กรต่างๆ
สัปดาห์นี้ บริษัทโทรคมนาคม เทเลนอร์ จากนอร์เวย์ ก็เพิ่งประกาศขายหุ้นในกิจการบริษัทธุรกรรมดิจิทัลพม่า และก่อนหน้านี้เมื่อปีที่แล้ว บริษัท เบเนตอง จากอิตาลี และเอชแอนด์เอ็ม จากสวีเดน ระงับคำสั่งซื้อทั้งหมดจากเมียนมา.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ภูมิธรรม' เผย 4 ลูกเรือประมงไทยได้กลับบ้าน 4 ม.ค.68 ยันกองทัพไม่ได้อ่อนแอ
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงความคืบหน้าการช่วยลูกเรือประมงไทยทั้ง 4 คนที่ถูกดำเนินคดีและตัดสินโทษจำคุกในข้อหารุกล้ำน่านน้ำเมียนมา ว่า การล่วงล้ำชายแดนไม่ว่าจะเป็นทางบกหรือทางทะเล
'ภูมิธรรม' สั่งปิดชายแดนไทย-เมียนมา 1 เดือน
นายภูมิธรรม เวชยชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมสภา
เชฟรอนสนับสนุนงานวิ่ง Saturday School Run 2024 ระดมทุนการศึกษาสู่ฝันเยาวชนไทย ฉลอง 10 ปี มูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์
บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการศึกษา สู่รากฐานที่แข็งแกร่งของสังคมไทยผ่านการพัฒนา “พลังเยาวชน”
'มาริษ' เผย 6 ชาติประชุมแก้ปัญหาเมียนมากับเพื่อนบ้าน เป็นไปด้วยดี
นายมาริษ เสงี่ยมพงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงถึงการประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างประเทศเมียนมาและประเทศเพื่อนบ้าน 6 ประเทศ (สปป.ลาว จีน อินเดีย บังกลาเทศ เมียนมา และไทย)