ชุมชน LGBTQ ในฮ่องกงได้รับชัยชนะครั้งสำคัญ ภายหลังศาลได้ยืนยันสิทธิในการอยู่อาศัยและมรดกของคู่รักเพศเดียวกัน ซึ่งเป็นการหักล้างนโยบายของรัฐบาล
นิค อินฟิงเกอร์ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนต่อคำตัดสินล่าสุดเกี่ยวกับคู่รักเพศเดียวกัน นอกศาลอุทธรณ์ในฮ่องกง เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน (Photo by Peter PARKS / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน 2567 กล่าวว่า ศาลอุทธรณ์ฮ่องกงพิพากษาให้คู่รักเพศเดียวกันในกลุ่ม LGBTQ ได้รับสิทธิในการอยู่อาศัยและการจัดการมรดกของกันและกัน หลังจากต่อสู้กับนโยบายและวิธีปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมของรัฐบาลมาตลอด
คำพิพากษาดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากคำตัดสินสำคัญในปี 2566 โดยศาลเดียวกันนี้ซึ่งไม่อนุญาตให้การแต่งงานเพศเดียวกันเป็นสิ่งถูกกฎหมาย แต่ให้เวลารัฐบาล 2 ปีในการจัดทำ "กรอบกฎหมายทางเลือก" เพื่อปกป้องสิทธิของคู่รักดังกล่าว
คำพิพากษาในวันอังคารถือเป็นการสิ้นสุดการต่อสู้ทางกฎหมายที่กินเวลานานถึง 6 ปี หลังจากที่นิค อินฟิงเกอร์ ชาวฮ่องกงรายหนึ่ง ยื่นฟ้องรัฐบาลต่อศาล จากเหตุที่เขาและคู่ครองถูกห้ามไม่ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ของรัฐด้วยเหตุผลว่าพวกเขาไม่ใช่ "ครอบครัวตามวิถีปกติ"
ต่อมาคดีนี้ได้รับการพิจารณาร่วมกับคดีของเฮนรี่ หลี่ และเอ็ดการ์ อึ้ง คู่รักเพศเดียวกันซึ่งท้าทายนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับสิทธิในที่อยู่อาศัยและกฎเกณฑ์การรับมรดกที่ห้ามการตกทอดสู่คู่ครองเพศเดียวกัน
ภายหลังศาลตัดสิน อินฟิงเกอร์แสดงความยินดีด้วยการโบกธงสีรุ้งด้านนอกศาลและขอบคุณคู่ครองของเขา
เขากล่าวว่าฮ่องกงจะต้องใช้เวลาสักพักในการรับรองสิทธิเพิ่มเติมสำหรับชุมชน LGBTQ
เขาบอกกับนักข่าวว่า "ผมหวังว่าฮ่องกงจะมีความเท่าเทียมและยุติธรรมมากขึ้น คำตัดสินของศาลในวันนี้ถือเป็นการยอมรับว่าคู่รักเพศเดียวกันสามารถรักกันได้และสมควรที่จะอยู่ร่วมกัน"
อินฟิงเกอร์ชื่นชมศาลแต่กล่าวว่าเขายังคง "มองโลกในแง่ร้ายเล็กน้อย" ที่ศาลฮ่องกงยังไม่เปิดกว้างได้เทียบเท่ากับศาลอย่างไต้หวันและไทยในการคุ้มครองสิทธิของกลุ่ม LGBTQ อย่างเต็มรูปแบบ
ขณะที่เฮนรี่ หลี่ ได้เปิดเผยจดหมายที่เขียนและส่งถึงเอ็ดการ์ อึ้งซึ่งเสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายในปี 2563 โดยระบุว่าเขา "รู้สึกขอบคุณ" สำหรับคำตัดสินดังกล่าว
"ผมต้องทนทุกข์ทรมานมาตลอดชีวิต แต่ไม่เคยละทิ้งความปรารถนาของคุณที่ต้องการความเท่าเทียมกัน... ผมหวังว่าคุณจะยังคงได้ยินคำยืนยันของเราเกี่ยวกับคุณ" เนื้อความในจดหมายระบุ
ก่อนหน้านี้ อินฟิงเกอร์และหลี่เคยชนะคดีในศาลชั้นต้น แต่เมื่อต้นปี รัฐบาลได้อุทธรณ์คดีนี้ไปยังศาลอุทธรณ์ จนกระทั่งศาลได้มีมติเอกฉันท์ยกฟ้องการอุทธรณ์ในที่สุด
แอนดรูว์ เฉิง ประธานผู้พิพากษากล่าวว่า นโยบายที่กีดกันคู่รักเพศเดียวกันออกจากอพาร์ทเมนต์ให้เช่าของรัฐและอพาร์ทเมนต์สร้างขายที่ได้รับเงินอุดหนุนภายใต้โครงการ Home Ownership Scheme ของฮ่องกงนั้น "ไม่สมเหตุสมผล"
"สำหรับคู่รักเพศเดียวกันที่ขัดสนและไม่สามารถหาเงินเช่าที่พักส่วนตัวได้ นโยบายกีดกัน (ของรัฐบาล) อาจทำให้พวกเขาสูญเสียโอกาสที่สมจริงในการใช้ชีวิตครอบครัวภายใต้ชายคาเดียวกัน" ประธานผู้พิพากษากล่าว
ทั้งนี้ อพาร์ทเมนต์สาธารณะของรัฐมีอยู่ประมาณ 28% จากประชากรทั้งหมด 7.5 ล้านคน
ในประเด็นเรื่องมรดก ผู้พิพากษาอธิบายว่ากฎเกณฑ์ที่มีอยู่นั้นเป็นการเลือกปฏิบัติและขัดต่อรัฐธรรมนูญ และยังกล่าวอีกว่าทางการไม่สามารถหาเหตุผลเพียงพอมาสนับสนุนการปฏิบัติที่แตกต่างกันต่อคู่รักเพศเดียวกันได้
ภายใต้กฎหมาย คู่รักเพศเดียวกันไม่สามารถรับประโยชน์จากกฎการตายโดยไม่มีพินัยกรรมที่ใช้กับ "สามี" และ "ภรรยา" เมื่อต้องแบ่งมรดกของผู้เสียชีวิต
นักวิชาการของมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกงกล่าวว่า การที่ศาลไม่ยอมรับเหตุผลของรัฐบาลในการกีดกันคู่รักเพศเดียวกัน ถือเป็นวิธีการปกป้องสถาบันการสมรส
"คำตัดสินล่าสุด รวมถึงกรณีที่คล้ายคลึงกันในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลล้มเหลวในการให้เหตุผลที่น่าเชื่อถือต่อศาลอย่างต่อเนื่อง เพื่อพิสูจน์การปฏิบัติที่แตกต่างกันต่อประสบการณ์ของคู่รักเพศเดียวกันในด้านต่างๆ ของชีวิต" นักวิชาการกล่าว
กลุ่มรณรงค์ Hong Kong Marriage Equality ชื่นชมคำตัดสินดังกล่าวของศาล และเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการกีดกันคู่รักเพศเดียวกันจากการสมรสทันที
การสนับสนุนการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันในฮ่องกงเพิ่มขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และแตะระดับ 60% เมื่อปีที่แล้ว ตามผลสำรวจที่จัดทำร่วมกันโดยมหาวิทยาลัยสามแห่ง
มีประเทศมากกว่า 30 แห่งทั่วโลกที่ได้ออกกฎหมายให้การแต่งงานถูกต้องตามกฎหมายสำหรับทุกคน นับตั้งแต่เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศแรกที่ออกกฎหมายดังกล่าวในปี 2544
แน่นอนว่าจีนแผ่นดินใหญ่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศเหล่านั้น และยังไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนในการต่อต้านการเลือกปฏิบัติต่อคนเพศเดียวกัน
นักเคลื่อนไหว LGBTQ กล่าวว่าพวกเขาหวังว่ากรอบการทำงานที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ของฮ่องกงจะสามารถปกป้องสิทธิต่างๆ ได้อย่างครอบคลุมมากขึ้นแทนที่จะพึ่งพาชัยชนะจากการฟ้องร้องต่อศาล
ขณะที่รัฐบาลเคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ไม่นานว่า กำลังศึกษาประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและกำหนดรายละเอียดการนำไปปฏิบัติ ในการปกป้องสิทธิทางกฎหมายของคู่รักเพศเดียวกัน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'จักรภพ'ตีปี๊บ22 ม.ค.2568 วันที่LGBTQ+ ต้องจารึก
'จักรภพ' ชี้ 22 มค.68 เป็นวันประวัติศาสตร์โลก เมื่อประเทศไทยจะมี พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรก จวก 'ทรัมป์' ประกาศต่อต้าน LGBTQ+ เอาใจคนกลุ่มเดียว เชื่อ แค่เห่าดังแต่ไม่กัดจริง
'จิรายุ' สะกิดส่วนราชการเร่งทำความเข้าใจกฎหมายสมรสเท่าเทียม
'จิรายุ' แนะส่วนราชการทำความเข้าใจกฎหมายสมรสเท่าเทียม พร้อมประชาสัมพันธ์ ปชช. ก่อนบังคับใช้ เหตุเกี่ยวพันทั้งอาญาและแพ่ง มีผลต่อชีวิตคู่รูปแบบใหม่ทั้งสินสมรส -บุตรบุญธรรม
กลุ่ม LGBTQ ยังไม่เข้าใจกม.สมรสเท่าเทียม
นายนพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้งสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง เสียงของ LGBTQiA+ กรณีศึกษาตัวอย่างกลุ่ม LGBTQiA+ ทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research)
'อ้อย จิระวดี' ควงลูกชาย 'พอชตี้ค์' เคลียร์ปมในใจโดนล้อมีแม่เป็นทอม
"อ้อย จิระวดี" นักแสดงรุ่นเก๋าที่วันนี้ขอเปิดเรื่องราวในอดีตหลังประกาศตนว่าเป็นทอม แม้ตอนนั้นกำลังเป็นนางเอกชื่อดัง ลั่นขอเป็นตัวของตัวเองดีที่สุด พร้อมควงลูกชายสุดหล่อ พอชตี้ค์ ณัฏฐพล เคลียร์ปมในใจวัยเด็กหลังโดนเพื่อนล้อมีแม่เป็นทอม
เตรียมฉลองหน้าตึกไทยฯ ข่าวดีกฎหมายสมรสเท่าเทียม
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึง ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม
เปิดตัวทุเรียนสาลิกาสีรุ้ง ฉลองเดือน Pride Month กระตุ้นท่องเที่ยวใต้ช่วง Green Season
นางรุ่งทิพ ว่องปฏิการ คิมูระ รองผู้อำนวยการภูมิภาคภาคใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) พร้อมด้วย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)สำนักงานพังงา จัดกิจกรรมโครงการ Internal Southern