ศาลอาญาระหว่างประเทศได้ออกหมายจับนายกรัฐมนตรีอิสราเอล, อดีตรัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล รวมถึงผู้บัญชาการทหารของกลุ่มฮามาส
โยอาฟ กัลแลนต์ อดีตรัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล (ซ้าย) และนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล (Photo by Alberto PIZZOLI and ABIR SULTAN / various sources / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน 2567 กล่าวว่า ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court - ไอซีซี) ได้ออกหมายจับกลุ่มบุคคลหลักที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมสงครามในฉนวนกาซา ทั้งฝั่งอิสราเอลและกลุ่มฮามาส คือนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู, โยอาฟ กัลแลนต์ อดีตรัฐมนตรีกลาโหม และโมฮัมเหม็ด เดอิฟ ผู้บัญชาการทหารของกลุ่มฮามาส
ความเคลื่อนไหวที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้ทำให้เนทันยาฮูแสดงปฏิกิริยาโกรธแค้น โดยเขากล่าวในแถลงการณ์ว่า "อิสราเอลปฏิเสธการกระทำและข้อกล่าวหาที่ไร้สาระและเป็นเท็จด้วยความขยะแขยง"
"หมายจับดังกล่าวจะไม่สามารถหยุดยั้งอิสราเอลจากการปกป้องตัวเอง" ผู้นำอิสราเอลกล่าว
หมายจับของศาลอาญาระหว่างประเทศจะจำกัดการเคลื่อนไหวของเนทันยาฮูในเชิงทฤษฎี เนื่องจาก 124 ชาติสมาชิกจะต้องทำการจับกุมเขาทันทีหากเข้าสู่อาณาเขตของแต่ละชาติ แบบเดียวกับกรณีของวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย
"ศาลได้ออกหมายจับบุคคล 2 คน คือเบนจามิน เนทันยาฮู และโยอาฟ กัลแลนต์ ในข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติและอาชญากรรมสงครามที่กระทำตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2566 จนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 เป็นอย่างน้อย ซึ่งเป็นวันที่อัยการยื่นคำร้องขอหมายจับบุคคลทั้งสอง" ศาลอาญาระหว่างประเทศระบุในแถลงการณ์
ศาลฯระบุด้วยว่า ยังได้ออกหมายจับโมฮัมเหม็ด เดอิฟ ผู้บัญชาการทหารของกลุ่มฮามาสด้วย แม้เมื่อต้นเดือนสิงหาคม อิสราเอลประกาศว่าได้สังหารเดอิฟจากการโจมตีทางอากาศทางตอนใต้ของฉนวนกาซา แต่กลุ่มฮามาสยังไม่ยืนยันการเสียชีวิตของเขา ศาลฯจึงดำเนินการออกหมายจับต่อไป เนื่องจากอัยการเองก็ไม่สามารถระบุได้ว่าเดอิฟเสียชีวิตแล้วหรือไม่
ศาลฯกล่าวว่า "มีเหตุผลอันสมควรที่เชื่อได้ว่าเนทันยาฮูและกัลแลนต์มี "ความรับผิดชอบทางอาญา" สำหรับอาชญากรรมสงครามด้วยการทำให้อดอาหาร, อาชญากรรมต่อมนุษยชาติด้วยการฆาตกรรม, การกดขี่ข่มเหง และการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมอื่นๆ
ศาลฯกล่าวหาว่าทั้งสองคนจงใจและรู้เห็นในการทำให้ประชาชนพลเรือนในฉนวนกาซาขาดสิ่งของที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ซึ่งรวมถึงอาหาร, น้ำ, ยา, เชื้อเพลิง และไฟฟ้า
เกี่ยวกับอาชญากรรมสงครามด้วยการทำให้อดอาหาร ศาลฯอธิบายว่า "การขาดแคลนอาหาร, น้ำ, ไฟฟ้า, เชื้อเพลิง และยารักษาโรค ก่อให้เกิดสภาพความเป็นอยู่ที่คำนวณไว้ว่าจะนำไปสู่การทำลายล้างส่วนหนึ่งของประชากรพลเรือนในฉนวนกาซา"
ศาลกล่าวหาว่าเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้พลเรือนเสียชีวิต รวมถึงเด็กด้วย เนื่องจากขาดสารอาหารและขาดน้ำ
"จากเอกสารที่อัยการนำเสนอจนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 ศาลยังไม่สามารถสรุปได้ทั้งหมดว่าความผิดต่อมนุษยชาติที่เกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่นั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์ทุกประการ"
อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษากล่าวว่ามีเหตุผลอันสมควรที่จะเชื่อว่าอาชญากรรมต่อมนุษยชาติด้วยการฆาตกรรมนั้นเกิดขึ้นกับเหยื่อเหล่านี้
รีด โบรดี อัยการและนักวิจารณ์คดีอาชญากรรมสงครามผู้มากประสบการณ์ กล่าวว่า หมายจับดังกล่าวแทบไม่เคยมีมาก่อน และสมควรแล้วกับการได้รับคำพิพากษา
"ศาลอาญาระหว่างประเทศไม่เคยฟ้องเจ้าหน้าที่ฝ่ายตะวันตกมาก่อนเลยตลอด 21 ปีที่ผ่านมา" เขากล่าว
ขณะที่กลุ่มฮามาสกล่าวว่า หมายจับเจ้าหน้าที่อิสราเอลเป็น "ก้าวสำคัญสู่ความยุติธรรม"
ศาลระบุว่าหมายจับถูกจัดประเภทเป็น "ลับ" เพื่อปกป้องพยานและปกป้องการดำเนินการสอบสวน
"อย่างไรก็ตาม ศาลฯได้ตัดสินใจเปิดเผยข้อมูลบางส่วนของหมายจับ เนื่องจากการกระทำที่คล้ายกับที่ระบุในหมายจับยังคงดำเนินอยู่"
"ยิ่งไปกว่านั้น ศาลฯยังถือว่าการแจ้งให้เหยื่อและครอบครัวทราบถึงการมีอยู่ของหมายจับเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของเหยื่อและครอบครัวของพวกเขาเอง" ศาลฯระบุ
คาริม ข่าน อัยการสูงสุดของศาลอาญาระหว่างประเทศได้ยื่นคำร้องต่อศาลในเดือนพฤษภาคม เพื่อขอหมายจับเนทันยาฮูและกัลแลนต์ในข้อกล่าวหาก่อสงครามและกระทำอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในฉนวนกาซา
ข่านยังขอหมายจับผู้นำระดับสูงของกลุ่มฮามาส รวมถึงโมฮัมเหม็ด เดอิฟ ในข้อสงสัยว่าก่อสงครามและกระทำอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป อัยการได้ถอนคำร้องขอหมายจับอิสมาอิล ฮานีเยห์ ผู้นำทางการเมืองของกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม เนื่องจากเขาเสียชีวิตในกรุงเตหะรานเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม รวมทั้งการถอนคำร้องหมายจับยาห์ยา ซินวาร์ อดีตผู้นำกลุ่มฮามาส ซึ่งถูกกองทัพอิสราเอลสังหารในฉนวนกาซาเช่นกัน
ขณะที่เนทันยาฮูเพิ่งปลดกัลแลนต์ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน.