ผู้คนนับหมื่นเดินขบวนประท้วงสิทธิของชาวเมารีในนิวซีแลนด์

ผู้คนนับหมื่นชุมนุมทั่วเมืองหลวงของนิวซีแลนด์ เพื่อต่อต้านการผลักดันของกลุ่มอนุรักษนิยมในการเปลี่ยนแปลงสนธิสัญญาก่อตั้งประเทศ

ชาวเมารีและผู้สนับสนุนเข้าร่วมการเดินขบวนประท้วงในกรุงเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน (Photo by Sanka Vidanagama / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน 2567 กล่าวว่า เสียงร้อง 'ฮากา' ของชาวเมารีพื้นเมืองดังขึ้นทั่วเมืองหลวงของนิวซีแลนด์ ขณะที่ผู้คนนับหมื่นชุมนุมต่อต้านการผลักดันของกลุ่มอนุรักษนิยมในการเปลี่ยนแปลงสนธิสัญญาก่อตั้งประเทศ

ตำรวจกล่าวว่าผู้ประท้วงมากกว่า 35,000 คนหลั่งไหลเข้าสู่กรุงเวลลิงตัน, ปิดกั้นถนนที่พลุกพล่าน และเดินขบวนแห่อย่างคึกคักเพื่อมุ่งหน้าสู่รัฐสภา

ชายเปลือยอกสวมเสื้อคลุมขนนกแบบดั้งเดิม, นักขี่ม้าโบกธงเมารีสีแดง-ขาว-ดำ พร้อมด้วยเด็กๆ เดินขบวนเคียงข้างผู้ใหญ่ที่สักลาย 'โมโก' ของชาวเมารีเต็มหน้าและถืออาวุธไม้ที่ใช้ในพิธีกรรม

การประท้วงได้ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วนิวซีแลนด์ หลังจากพรรคเล็กในรัฐบาลผสมอนุรักษนิยมนำเสนอร่างกฎหมายเพื่อกำหนดนิยามใหม่ของสนธิสัญญาไวตังหงิ ค.ศ. 1840

แม้ว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะแทบไม่มีโอกาสผ่าน แต่การนำเสนอเพียงครั้งเดียวก็จุดชนวนให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของนิวซีแลนด์ในรอบหลายทศวรรษ

หลังการนำเสนอร่างกฎหมายต่อรัฐสภาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ฮานา-ราวิตี ไมปี-คลาร์ก ส.ส. พรรคเมารีวัย 22 ปี ลุกขึ้นยืนในห้องประชุม, ฉีกร่างกฎหมายออกเป็นสองส่วน และเต้นฮากา เพื่อประท้วงความเคลื่อนไหวของกลุ่มอนุรักษนิยม

เธอเข้าร่วมกับกลุ่มผู้ประท้วงที่รวมตัวกันบนสนามหญ้าหน้าอาคารรัฐสภารูปรังผึ้งของนิวซีแลนด์เมื่อวันอังคาร

"ดิฉันอาจถูกพักงานเป็นเวลา 24 ชั่วโมงและไม่ได้รับอนุญาตให้ผ่านเข้าไปในประตูรัฐสภา แต่ในวันรุ่งขึ้น ดิฉันก็ปรากฏตัวขึ้นที่หน้าบันไดพร้อมกับคนนับแสนคน, เดินขบวนโดยเชิดหน้าชูตา และโบกธงด้วยความภาคภูมิใจ"

"พวกเราคือผู้สร้างกษัตริย์ พวกเราคือประชาชนผู้มีอำนาจอธิปไตยของดินแดนแห่งนี้ และโลกกำลังเฝ้าดูพวกเราอยู่ที่นี่" ส.ส. หญิงกล่าว

นักวิจารณ์หลายคนประณามร่างกฎหมายฉบับนี้ รวมถึงทนายความที่ได้รับความเคารพนับถือมากที่สุดบางคนของนิวซีแลนด์ก็มองว่าร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นความพยายามที่จะลิดรอนสิทธิที่ตกลงกันมายาวนานจากชาวเมารีจำนวน 900,000 คนของประเทศ

ศูนย์กลางของเสียงประท้วงคือเดวิด ซีเมอร์ รัฐมนตรีจากพรรคเสรีนิยมซึ่งเป็นพันธมิตรรายย่อยในรัฐบาลผสม

ซีเมอร์ได้ออกมากล่าวโจมตีนโยบายปฏิบัติการเชิงบวกที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือชาวเมารีซึ่งมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร, อยู่ในความยากจน หรือติดคุก โดยเขาต้องการให้ยกเลิกสิทธิพิเศษเหล่านี้

นายกรัฐมนตรีคริสโตเฟอร์ ลักสันได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายของซีเมอร์ ซึ่งหมายความว่าร่างกฎหมายนี้แทบจะล้มเหลวเมื่อต้องลงมติในรัฐสภา

ทั้งนี้ สนธิสัญญาไวตังหงิซึ่งถือเป็นเอกสารก่อตั้งประเทศ ได้รับการลงนามในปี ค.ศ. 1840 เพื่อนำสันติภาพมาสู่ผู้นำชาวเมารี 540 คนและกองกำลังอาณานิคมอังกฤษ

หลักการของสนธิสัญญาในปัจจุบันสนับสนุนความพยายามในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างชาวพื้นเมืองและชาวนิวซีแลนด์ที่ไม่ใช่ชาวพื้นเมือง และปกป้องผลประโยชน์ของชุมชนชาวเมารี นอกจากนี้วันครบรอบการลงนามสนธิสัญญาดังกล่าวยังถือเป็นวันหยุดประจำชาติอีกด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' ต้อนรับนายกฯ กีวีเยือนไทยอย่างเป็นทางการ

นายกฯ หารือทวิภาคี นายกฯ นิวซีแลนด์ ย้ำความสัมพันธ์ไทย - นิวซีแลนด์ เกือบ 7 ทศวรรษ เดินหน้าความร่วมมือด้านการศึกษา และการท่องเที่ยว ยกระดับความสัมพันธ์

'ไทย-นิวซีแลนด์' หารือชื่นมื่นดันปี 2569 เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์!

ไทย-นิวซีแลนด์ ลงนามความตกลง 2 ฉบับ ยกระดับความร่วมมือรอบด้าน โดยเฉพาะความมั่นคง เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ในระดับประชาชน เดินหน้าสู่การเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ในปี 2569