G20 เวทีผู้นำซึ่งต้องเผชิญหน้ากันเรื่องสภาพอากาศ, ภาษี และการกลับสู่อำนาจของทรัมป์

ผู้นำ G20 มารวมตัวกันที่บราซิลในวันจันทร์เพื่อเริ่มหารือเกี่ยวกับการต่อสู้กับความยากจน, การส่งเสริมการเงินเพื่อสภาพอากาศ และโครงการพหุภาคีอื่นๆ ที่อาจพลิกผันได้จากการที่โดนัลด์ ทรัมป์จะกลับมายังทำเนียบขาวในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

(Photo by Luis ROBAYO / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2567 กล่าวว่า การประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลก หรือ G20 ปี 2024 เริ่มต้นขึ้นแล้วที่นครรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน โดยมีผู้นำจากหลายชาติเข้าร่วม

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ จะเป็นตัวแทนประเทศในการประชุมสุดยอดครั้งสุดท้าย แต่คาดว่าจะไม่ได้รับการโฟกัสมากนักเมื่อเขาจะอำลาตำแหน่งในอีกสองเดือน

คาดว่ากระแสหลักของการประชุมครั้งนี้จะเป็นประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ซึ่งแสดงตนเป็นนักการเมืองระดับโลกและผู้นำในการปกป้องการค้าเสรีเพื่อเผชิญหน้ากับวาระ "อเมริกาต้องมาก่อน" ของโดนัลด์ ทรัมป์

ขณะที่ประธานาธิบดีลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวาจะใช้โอกาสการเป็นเจ้าภาพเพื่อเน้นย้ำถึงการสนับสนุนประเด็นปัญหาโลกร้อน และการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สถานที่จัดการประชุมสุดยอดคือพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ริมอ่าวอันสวยงามในรีโอเดจาเนโร

การรักษาความปลอดภัยเป็นไปอย่างเข้มงวดกว่าปกติ หลังเกิดเหตุระเบิดฆ่าตัวตายหน้าศาลสูงบราซิลโดยผู้ต้องสงสัยหัวรุนแรงขวาจัด เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้า

การประชุมสุดยอดครั้งนี้จะเป็นการปิดท้ายการเดินทางทางการทูตของไบเดน ซึ่งพาเขาไปที่กรุงลิมาเพื่อประชุมคู่ค้าในเอเชียแปซิฟิกเมื่อสุดสัปดาห์

ไบเดนซึ่งพยายามรักษามรดกของเขาไว้ในขณะที่เวลากำลังจะหมดลงในฐานะประธานาธิบดี ยืนกรานว่าบันทึกด้านสภาพภูมิอากาศของเขาจะอยู่รอดต่อไปได้ภายใต้การดำรงตำแหน่งของทรัมป์ต่อจากนี้

การประชุม G20 จะจัดขึ้นในเวลาเดียวกับการประชุมด้านสภาพอากาศ หรือ COP29 ในอาเซอร์ไบจาน ซึ่งหยุดชะงักในประเด็นการจัดหาเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อสภาพอากาศสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้นทุกสายตาจึงจับจ้องไปที่ริโอเพื่อหาจุดเปลี่ยน

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกกลุ่ม G20 ซึ่งคิดเป็น 80% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก แสดงความเป็นผู้นำและการประนีประนอมเพื่อให้เกิดข้อตกลงในการผ่าทางตันวิกฤตเงินทุน

การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นในปีที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์สภาพอากาศเลวร้ายมากมาย รวมถึงฤดูไฟป่าที่เลวร้ายที่สุดของบราซิลในรอบกว่าทศวรรษซึ่งเกิดจากภัยแล้งครั้งประวัติศาสตร์เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

ในการประชุม G20 ครั้งก่อนหน้าที่อินเดีย บรรดาผู้นำเรียกร้องให้เพิ่มแหล่งพลังงานหมุนเวียนเป็น 3 เท่าภายในสิ้นทศวรรษ แต่ไม่ได้เรียกร้องอย่างชัดเจนให้ยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

ผู้นำคนหนึ่งที่ได้รับเชิญและปฏิเสธที่จะมาประชุมที่ริโอ คือประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ซึ่งศาลอาญาระหว่างประเทศขอให้บราซิลทำการจับกุมเขาตามหมายจับในฐานะอาชญากร

ประธานาธิบดีบราซิลวัย 79 ปี กล่าวไว้เมื่อวันอาทิตย์ว่า สงครามในยูเครนและตะวันออกกลางจะไม่ถูกหารือในการประชุมครั้งนี้ เพราะต้องการโฟกัสไปยังความยากจนของผู้คนมากกว่า

"เพราะถ้าไม่เช่นนั้น เราจะไม่หารือเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญกว่าสำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในสงคราม, ที่เป็นคนจน และไม่มีใครมองเห็นในโลก" ผู้นำบราซิลกล่าว

ลูลา ดา ซิลวา อดีตคนงานโรงงานเหล็กที่เติบโตมาในความยากจน ตั้งใจจะก่อตั้งพันธมิตรระดับโลกเพื่อต่อต้านความหิวโหยและความยากจนในการประชุมสุดยอดครั้งนี้

"สิ่งที่ผมต้องการบอกกับผู้คน 733 ล้านคนที่กำลังหิวโหยในโลก รวมทั้งเด็กๆ ที่เข้านอนและตื่นขึ้นมาโดยไม่แน่ใจว่าจะมีอาหารกินหรือไม่ ก็คือวันนี้ไม่มีอาหารกิน แต่พรุ่งนี้จะมี" ลูลากล่าวเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ผู้นำบราซิลจะผลักดันให้เก็บภาษีประเทศร่ำรวยเพิ่มขึ้นอีกด้วย.

เพิ่มเพื่อน