ไบเดนอนุมัติ ยูเครนสามารถใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลโจมตีรัสเซีย

ประธานาธิบดีโจ ไบเดนอนุมัติให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลของสหรัฐฯ โจมตีเป้าหมายทางทหารภายในรัสเซีย ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งใหญ่ที่รัฐบาลเคียฟเรียกร้องมาตลอด

ระบบขีปนาวุธยุทธวิธีของกองทัพสหรัฐฯ : ATACMS (Photo by John Hamilton / DoD / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2567 กล่าวว่า นิวยอร์กไทม์สและวอชิงตันโพสต์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านอาวุธครั้งใหญ่ เมื่อในที่สุดประธานาธิบดีโจ ไบเดนยอมอนุมัติให้ยูเครนสามารถใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลของสหรัฐฯ ในการโจมตีเป้าหมายทางทหารภายในรัสเซียได้

หลังจากรัฐบาลเคียฟเรียกร้องขอใช้ขีปนาวุธดังกล่าวมานานแล้ว แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน การอนุมัติครั้งนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อตอบโต้การที่เกาหลีเหนือส่งทหารไปช่วยเหลือการทำสงครามของฝั่งรัสเซีย

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ คนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีและยืนยันว่ารายงานดังกล่าวมีความถูกต้อง ขณะที่โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศ, ทำเนียบขาว และเพนตากอน ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น

ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครนผลักดันให้มีการอนุมัติจากวอชิงตันในการใช้ระบบขีปนาวุธยุทธวิธีที่ทรงพลังของกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งรู้จักกันในชื่อย่อว่า ATACMS เพื่อโจมตีเป้าหมายภายในดินแดนรัสเซียอย่างต่อเนื่อง

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียเคยประกาศเตือนว่า การอนุมัติให้ใช้อาวุธดังกล่าวหรือการยกระดับความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครน จะหมายความว่านาโตกำลังทำสงครามกับประเทศของเขา

การเปลี่ยนแปลงท่าทีของไบเดนที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่ง เกิดจากการมาถึงของกองทหารเกาหลีเหนือในรัสเซีย โดยรายงานข่าวกรองของชาติตะวันตกระบุว่ามีการส่งกำลังทหารไปประจำการประมาณ 10,000 นาย

การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่ไบเดนเตรียมส่งมอบอำนาจให้กับโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งสัญญาว่าจะยุติความขัดแย้งนี้ภายใน "วันเดียว" ในการเจรจาที่คาดว่าจะต้องให้ยูเครนยอมสละดินแดน

เจ้าหน้าที่สหรัฐเคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า ขีปนาวุธ ATACMS ไม่น่าจะสร้างความได้เปรียบมากนักให้กับยูเครน และสหรัฐก็มองว่ายังไม่จำเป็นต้องผลาญคลังอาวุธของตนในสถานการณ์ที่ไม่วิกฤตจริงๆ

การเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหรัฐมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบในวงกว้างขึ้นและทำให้พันธมิตรในยุโรปต้องทบทวนจุดยืนของตน

ฝรั่งเศสและอังกฤษได้จัดหาขีปนาวุธพิสัยไกลที่รู้จักกันในชื่อ Storm Shadow และ SCALP ให้กับยูเครน แต่ยังคงยับยั้งไม่ให้ใช้ขีปนาวุธเหล่านี้ยิงเข้าไปในดินแดนรัสเซียโดยไม่ได้รับอนุมัติ เช่นเดียวกับ ATACMS ของสหรัฐฯ

นายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ ของอังกฤษได้หารือถึงวิธีการที่จะวางยูเครนไว้ในตำแหน่งที่แข็งแกร่งที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในช่วงฤดูหนาว ในการประชุมกับประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส เมื่อต้นสัปดาห์

ในการกล่าวสุนทรพจน์ที่อาร์เจนตินาเมื่อวันอาทิตย์ มาครงกล่าวว่าปูตินไม่ต้องการสันติภาพ และชัดเจนว่าผู้นำรัสเซียตั้งใจที่จะยกระดับความรุนแรงของการสู้รบขึ้นไปอีก

นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนีปฏิเสธที่จะจัดส่งขีปนาวุธทอรัสให้ตามคำขอของยูเครน เนื่องจากเกรงว่าขีปนาวุธซึ่งมีพิสัยการยิงมากกว่า 500 กิโลเมตร อาจถูกใช้ยิงเข้าสู่ดินแดนของรัสเซียได้

ในช่วงสองเดือนสุดท้ายของรัฐบาลไบเดน มีการเตรียมการใช้เงินทุนสนับสนุนยูเครนที่เหลืออีก 6,000 ล้านดอลลาร์ให้หมด ก่อนที่ทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม

ในระหว่างการหาเสียง ทรัมป์และพันธมิตรของเขาวิพากษ์วิจารณ์ความช่วยเหลือจากชาติตะวันตกสำหรับยูเครนอยู่เสมอ

ไมค์ วอลท์ซ ผู้ซึ่งทรัมป์เลือกให้เป็นที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า "การทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์ให้กับสงครามในยูเครนถือเป็นคำจำกัดความของความบ้าคลั่งในตอนนี้"

สถานการณ์การรบล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ รัสเซียโจมตียูเครนอย่างหนักหน่วงจนมีพลเรือนเสียชีวิต 11 รายในหลายภูมิภาค และสร้างความเสียหายให้กับโครงข่ายพลังงานที่เปราะบางอยู่แล้วของประเทศ

หน่วยงานไฟฟ้าของยูเครนประกาศว่าจะบังคับใช้ข้อจำกัดด้านพลังงานฉุกเฉินทั่วประเทศในวันจันทร์ ก่อนที่ฤดูหนาวอันน่าหวาดหวั่นจะมาถึงในอีกไม่นาน

ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกีกล่าวว่า รัสเซียยิงขีปนาวุธ 120 ลูกและโดรนเกือบ 100 ลำโจมตีกรุงเคียฟ รวมถึงพื้นที่ทางใต้, ตอนกลาง และทางตะวันตกสุดของประเทศ ทำให้มีพลเรือนเสียชีวิตในมีกอลาเยฟ, ลวิฟ, เคอร์ซอน, ดนิโปรเปตรอฟสค์ และโอเดสซา

การโจมตีครั้งนี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ระบุว่าเป็นการโจมตีครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของรัสเซีย เกิดขึ้นในขณะที่สงครามใกล้จะครบ 1,000 วันแล้ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง