ประชาชนหลายร้อยคนเร่งอพยพออกจากพื้นที่ในวันศุกร์เนื่องจากไต้ฝุ่นหม่านยี่กำลังเข้าใกล้ฟิลิปปินส์และอาจสร้างความเสียหายอย่างหนัก ในขณะที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยยังติดพันภารกิจช่วยเหลือผู้คนที่ติดอยู่บนหลังคาบ้านจากพายุอูซางิ
ชาวฟิลิปปินส์เข้าแถวรอรถของรัฐบาลท้องถิ่นมารับ เพื่ออพยพก่อนการมาของพายุไต้ฝุ่น 'หม่านยี่' ในเมืองเลกัสปี จังหวัดอัลเบย์ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน (Photo by Charism SAYAT / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2567 กล่าวว่า ในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา พายุใหญ่ 5 ลูกพัดถล่มประเทศฟิลิปปินส์, คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 163 ราย และทำให้สหประชาชาติต้องร้องขอเงินช่วยเหลือ 32.9 ล้านดอลลาร์สำหรับภูมิภาคแห่งนี้
พายุไต้ฝุ่น 'อูซางิ' เพิ่งพัดถล่มทางตอนเหนือของประเทศเมื่อวันพฤหัสบดี และในวันศุกร์ เจ้าหน้าที่กู้ภัยยังคงเร่งรุดเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ติดอยู่บนหลังคาบ้านบนเกาะลูซอนทางตอนเหนือ ซึ่งฝูงปศุสัตว์ได้รับความเสียหายอย่างหนัก
ในขณะเดียวกันพายุไต้ฝุ่น 'หม่านยี่' ได้เดินทางจากเกาะกวมมาใกล้ฝั่งฟิลิปปินส์แล้วเช่นกัน ทำให้ประชาชนหลายร้อยคนต้องเร่งอพยพออกจากพื้นที่เกาะคาตันดูอาเนส ซึ่งน่าจะเป็นแผ่นดินแรกที่ได้รับผลกระทบจากพายุดังกล่าวโดยตรงในวันเสาร์ ตามรายงานของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติ
"เราคาดว่าจะมีผู้คนอีกหลายพันคนอพยพออกไปในอีกไม่กี่ชั่วโมงก่อนพายุจะถึงฝั่ง แต่เราไม่มีศูนย์อพยพเพียงพอ ดังนั้นพวกเขาบางส่วนจึงไปหลบภัยกับเพื่อนบ้านที่มีบ้านทำจากวัสดุแข็งแรงกว่า" โรแบร์โต มอนเตโรลา หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการของสำนักงานป้องกันพลเรือนคาตันดูอาเนส กล่าวกับเอเอฟพี
เมื่อวันพฤหัสบดี น้ำท่วมฉับพลันที่เกิดจากพายุอูซางิพัดถล่มหมู่บ้าน 10 แห่งที่อพยพผู้คนออกไปเป็นส่วนใหญ่รอบเมืองกอนซากาในจังหวัดคากายัน
เอ็ดเวิร์ด กัสปาร์ เจ้าหน้าที่กู้ภัยท้องถิ่น กล่าวกับเอเอฟพีทางโทรศัพท์ว่า "เราช่วยเหลือผู้คนจำนวนมากที่ปฏิเสธการย้ายไปที่ศูนย์พักพิงและยอมติดอยู่บนหลังคาบ้าน"
แม้ว่าการอพยพชาวกอนซากา 5,000 คนก่อนพายุอูซางิพัดถล่มจะสามารถช่วยชีวิตคนไว้ได้ แต่ก็มีบ้าน 2 หลังถูกน้ำพัดหายไป และอีกหลายหลังได้รับความเสียหาย ในขณะที่อุตสาหกรรมปศุสัตว์ของภูมิภาคเกษตรกรรมได้รับผลกระทบอย่างหนัก
"เรายังไม่สามารถระบุจำนวนที่แน่นอนของปศุสัตว์ที่เสียหายได้ หมู, วัว และสัตว์ปีกสูญหายจำนวนมากจากน้ำท่วมในระดับมหาศาล" กัสปาร์กล่าว
ต้นไม้ที่โค่นล้มยังสร้างความเสียหายให้กับสะพานใหญ่ในกอนซากา ทำให้ตัดขาดการเชื่อมต่อเส้นทางกับซานตาอานา เมืองชายฝั่งที่อยู่ใกล้เคียงซึ่งมีประชากรประมาณ 36,000 คน
"ผู้อพยพส่วนใหญ่ได้กลับบ้านแล้ว แต่เราได้กักพวกเขาบางส่วนไว้ เราต้องตรวจสอบก่อนว่าบ้านของพวกเขายังปลอดภัยสำหรับการอยู่อาศัยหรือไม่" โบนิฟาซิโอ เอสปิริตู หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการของสำนักงานป้องกันพลเรือนในคากายัน กล่าวกับเอเอฟพี
ในวันศุกร์ อูซางิซึ่งลดระดับลงเป็นพายุโซนร้อนรุนแรงแล้ว กำลังเคลื่อนตัวเหนือช่องแคบลูซอนด้วยความเร็วลดลงเหลือ 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมุ่งหน้าสู่ตอนใต้ของไต้หวัน
คาดว่ากระแสลมแรงจะยังคงดำเนินต่อไปในภาคกลางของฟิลิปปินส์ และพายุหม่านยี่ซึ่งกลายเป็นพายุไต้ฝุ่นและมีความเร็วลมสูงถึง 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะขึ้นฝั่งพัดถล่มเกาะคาตันดูอาเนสในช่วงค่ำของวันเสาร์
การประเมินของสหประชาชาติระบุว่า พายุรุนแรงตลอดทั้งเดือนได้สร้างความเสียหายหรือทำลายบ้านเรือนไปแล้ว 207,000 หลัง โดยประชาชน 700,000 คนต้องอพยพหาที่พักชั่วคราว
ครอบครัวจำนวนมากกำลังขาดแคลนสิ่งของจำเป็น เช่น เสื่อรองนอน, เสื้อผ้า, อุปกรณ์ทำอาหาร และมีน้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับการบริโภคอย่างจำกัด
พื้นที่เพาะปลูกหลายพันเฮกตาร์ถูกทำลาย และน้ำท่วมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องน่าจะทำให้ความพยายามปลูกพืชทดแทนล่าช้า รวมทั้งทำให้ปัญหาด้านอุปทานอาหารเลวร้ายลง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ดร.ธรณ์' ชี้อากาศแปรปรวนหนัก ภาคใต้ไม่มีพายุ แต่ปริมาณน้ำฝนเทียบเท่า 'ไต้ฝุ่น'
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม โ
กรมอุตุฯ ออกประกาศ ฉ.1 พายุไต้ฝุ่น ‘หม่านหยี่’ บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน
พายุไต้ฝุ่น “หม่านหยี่” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 17.9 องศาเหนือ ลองจิจูด 118.9 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
อัปเดตพายุไต้ฝุ่น ‘หม่านหยี่’ เช้าตรู่ 18 พ.ย.เคลื่อนผ่านเกาะลูซอล ลงสู่ทะเลจีนใต้
คาดว่าจะเคลื่อนผ่านเกาะลูซอล ลงสู่ทะเลจีนใต้เช้าตรู่วันที่ 18 พ.ย.67 และเคลื่อนตัวทางตะวันตกเข้าใกล้เกาะไหหลำ และจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ