สภาสหพันธ์ของเยอรมนีจะมีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งต้นปีหน้า

(ประธานาธิบดีฟรังก์-วอลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ร่วมเจรจากับประธานฝ่ายต่างๆ ที่เป็นตัวแทนของสภาสหพันธ์ ที่ทำเนียบประธานาธิบดีเบลเลวู ในกรุงเบอร์ลิน เมื่อวันอังคาร เพื่อหาข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งใหม่ – Photo by John Macdougall / AFP)

ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ปีหน้า พลเมืองในเยอรมนีจะมีการเลือกตั้งใหม่ ในวันนั้นพวกเขาจะเป็นคนกำหนดสภาสหพันธ์ (Bundestag) ของเยอรมนีวาระต่อไป – เจ็ดเดือนก่อนวันเลือกตั้งปกติ ผู้นำฝ่ายต่างๆ ของพรรคร่วมได้ข้อตกลงเมื่อวันอังคาร หลังจากการโต้เถียงกันหลายวัน โดยมีพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี (SPD) พรรคเสรีประชาธิปไตย (FDP) และพรรคกรีน สนับสนุนการตัดสินใจดังกล่าว

เพื่อปูทางไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ (SPD) จะขอให้สภาสหพันธ์ลงมติไว้วางใจในวันที่ 16 ธันวาคม ฟรังก์-วอลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีสหพันธรัฐได้อนุมัติกำหนดการในตอนเย็น หลังจากการหารือร่วมกับผู้นำฝ่ายค้าน และประธานวิปรัฐบาล ตามกฎหมายแล้วประธานาธิบดีสหพันธรัฐมีบทบาทในการยุบสภาสหพันธ์ และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่

ก่อนที่สภาสหพันธ์จะถูกยุบหลังจากการลงมติไว้วางใจโอลาฟ ชอลซ์ ประธานาธิบดีชไตน์ไมเออร์จะจัดให้มีการเจรจากับประธานของทุกฝ่ายที่เป็นตัวแทนในสภาสหพันธ์ แคร์สทิน กัมเมลิน-โฆษกหญิงของประธานาธิบดีชี้แจง “ความโปร่งใสและความสมบูรณ์ของกระบวนการเลือกตั้งเป็นข้อกำหนดเบื้องต้นที่สำคัญสำหรับความไว้วางใจในระบอบประชาธิปไตย” เธอกล่าว

วันเลือกตั้งในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2025 ถือเป็นการประนีประนอม หลังจากพรรคร่วมรัฐบาลแตกคอกันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เบื้องต้นนายกรัฐมนตรีได้กำหนดเป้าหมายวันเลือกตั้งใหม่เป็นช่วงกลางเดือนมีนาคม ในขณะที่ฟรีดริช แมร์ซ-หัวหน้าพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียนเยอรมนี (CDU) ซึ่งเห็นว่าคะแนนนิยมของพรรคกำลังนำในผลสำรวจ จึงต้องการให้มีการเลือกตั้งในเดือนมกราคม เมื่อพิจารณาถึงข้อโต้แย้งเรื่องกำหนดการ นายกรัฐมนตรีชอลซ์จึงขอให้รอล์ฟ มึตเซนิช (หัวหน้าพรรค SPD) และฟรีดริช แมร์ซตกลงในข้อเสนอร่วมกัน

การเจรจากับแมร์ซนั้น “น่าไว้วางใจอย่างยิ่ง” มึตเซนิชกล่าวในช่วงบ่ายก่อนการประชุมกลุ่มรัฐสภา และให้มุมมองเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น หลังจากชี้แจงกำหนดวันเลือกตั้งแล้ว คำถามก็คือ “ใครคือนายกรัฐมนตรีที่ดีกว่าสำหรับเยอรมนี” หัวหน้าพรรค SPD กล่าว “ตอนนี้มันเป็นเรื่องของประสบการณ์ ความสามารถ และโอลาฟ ชอลซ์คือคนที่ใช่”

ฟรีดริช แมร์ซยอมรับว่าเขาอยากให้มีการเลือกตั้งเร็วกว่านี้ อย่างไรก็ตาม เขาถือว่าวันที่ 23 กุมภาพันธ์เป็นวันที่ “สมเหตุสมผล” และเป็น “ทางออกที่ดี”

คริสเตียน ลินด์เนอร์-หัวหน้าพรรค FDP ซึ่งตอนนี้เปลี่ยนข้างมาเป็นฝ่ายค้าน หลังจากถูกปลดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ก็ยินดีกับข้อตกลงนี้เช่นกัน และชี้แจงถึงความสนใจที่จะเข้าร่วมในรัฐบาลสหพันธรัฐของพรรคเขา “ฟรีดริช แมร์ซน่าจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปอย่างแน่นอน” ลินด์เนอร์กล่าว

อลิซ ไวเดล-หัวหน้าพรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี (AfD) วิพากษ์วิจารณ์กระบวนการกำหนดวันเลือกตั้งว่า “ไม่สมศักดิ์ศรี” พรรคของเธอปรารถนาจะเห็นการลงมติไว้วางใจนายกรัฐมนตรีในวันพุธนี้มากกว่า ส่วนซาราห์ วาเกนคเนชท์ จากพรรคพันธมิตรซาราห์ วาเกนคเนชท์ (BSW) ยินดีกับการประกาศวันเลือกตั้ง และเรียกร้องให้มีการอภิปราย “ประเด็นที่สำคัญจริงๆ”

ตามข้อมูลของรอล์ฟ มึนเซนิช ตารางเวลาที่ตกลงกันไว้สำหรับเส้นทางสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ กำหนดว่านายกรัฐมนตรีชอลซ์จะยื่นมติไว้วางใจต่อสภาสหพันธ์เป็นลายลักษณ์อักษรในวันที่ 11 ธันวาคม จากนั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะทำการโหวตในวันที่ 16 ธันวาคม

หากนายกรัฐมนตรีไม่ได้คะแนนโหวตข้างมาก กำหนดเวลาที่ระบุไว้ตามกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ทันที นั่นคือ ประธานาธิบดีสหพันธรัฐมีเวลา 21 วันในการพิจารณายุบสภาสหพันธ์ และหลังจากยุบสภาแล้วจะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ภายในกรอบเวลา 60 วัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มีแต่ได้กับได้! 'ก้าวไกล' ประกาศไม่จับมือ 'เพื่อไทย' ตั้งรัฐบาล

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “ก้าวไกล” ประกาศไม่จับมือ “เพื่อไทย” เป็นรัฐบาล มีแต่ได้กับได้