ฟิลิปปินส์สั่งอพยพประชาชนก่อนไต้ฝุ่นอูซางิจะพัดเข้าถล่ม ขณะที่สำนักงานจัดการภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติร้องขอเงินช่วยเหลือเพื่อสนับสนุน หลังจากพายุหลายลูกพัดถล่มฟิลิปปินส์ในเดือนเดียวคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 150 ราย
ชาวฟิลิปปินส์กำลังลุยน้ำท่วมถนนในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเมืองอิลากัน จังหวัดอิซาเบลา เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน หนึ่งวันหลังจากพายุไต้ฝุ่นโทราจีพัดถล่มจังหวัดดังกล่าว (Photo by Villamor VISAYA / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 13 พฤศจิกายน 2567 กล่าวว่า พายุไต้ฝุ่น "อูซางิ" จะเป็นพายุรุนแรงลูกที่ 5 ที่พัดถล่มฟิลิปปินส์ในรอบ 1 เดือน โดยมีแนวโน้มจะพัดขึ้นฝั่งในวันพฤหัสบดีที่จังหวัดคากายัน ทางตอนเหนือสุดของเกาะลูซอน
รูเอลี แรปซิง หัวหน้าฝ่ายป้องกันพลเรือนประจำจังหวัดกล่าวว่า นายกเทศมนตรีได้ออกคำสั่งให้อพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย และหากมีการขัดขืนอาจใช้กำลังได้ตามความจำเป็น
"ภายใต้สารฉุกเฉินของนายกเทศมนตรี ทุกคนต้องดำเนินการอพยพฉุกเฉิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับพื้นที่เสี่ยงภัย" เขากล่าว และเสริมว่าผู้พักอาศัยในจังหวัดนี้มีมากถึง 40,000 คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย
สหประชาชาติระบุเมื่อช่วงค่ำวันอังคารว่า พายุที่เกิดขึ้นติดต่อกันมาได้ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรของทั้งรัฐบาลและครัวเรือนในพื้นที่
สำนักงานประสานงานกิจการมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (UN Office for the Coordination of Humanitarian Affairs) ระบุในแถลงการณ์ว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเมื่อเร็วๆ นี้ประมาณ 210,000 คนต้องการความช่วยเหลือสำหรับการฟื้นฟูชีวิตและการปกป้องสวัสดิภาพในช่วงสามเดือนข้างหน้า
"ไต้ฝุ่นเกิดขึ้นและคุกคามอย่างไม่หยุดหย่อน ทันทีที่ชุมชนต่างๆ พยายามฟื้นตัวจากแรงกระแทก พายุลูกต่อไปก็พัดถล่มพวกเขาอีกครั้ง และภายใต้บริบทนี้ ศักยภาพในการตอบสนองจะหมดลง เช่นเดียวกับงบประมาณ" กุสตาโว กอนซาเลซ ผู้ประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติประจำฟิลิปปินส์กล่าว
กอนซาเลซเรียกร้องให้พันธมิตรด้านทรัพยากรสนับสนุนความพยายามของสหประชาชาติและเติมเต็มช่องว่างด้านเงินทุนที่สำคัญแก่วิกฤตของฟิลิปปินส์
"ความคิดริเริ่มจะช่วยให้เราสามารถระดมความสามารถและทรัพยากรของชุมชนด้านมนุษยธรรมเพื่อสนับสนุนสถาบันของรัฐในระดับชาติ, ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่นได้ดีขึ้น" เขากล่าวเสริม
ทั้งนี้ พายุโซนร้อน 'หม่านยี่' ซึ่งขณะนี้พัดอยู่ทางตะวันออกของเกาะกวม จะเป็นพายุลูกที่ 6 ที่อาจคุกคามฟิลิปปินส์ในสัปดาห์หน้าอีกด้วย
ขณะนี้ พายุมีความเร็วลม 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (75 ไมล์) และคาดว่าจะส่งผลให้เกิดกระแสลมแรง, ฝนตกหนัก และคลื่นสูงในทะเล
สำนักงานป้องกันพลเรือนของประเทศระบุในการนับครั้งล่าสุดว่า ประชาชนมากกว่า 28,000 คนที่ไร้ที่อยู่อาศัยจากเหตุการณ์สภาพอากาศในช่วงที่ผ่านมา ยังคงอาศัยอยู่ในศูนย์อพยพที่ดำเนินการโดยรัฐบาลท้องถิ่น
เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลยังคงทำงานเพื่อซ่อมแซมสายไฟฟ้าและเสาสื่อสารที่ล้มลง รวมทั้งฟื้นฟูถนนหนทาง
ทั้งนี้ พายุขนาดใหญ่ประมาณ 20 ลูกพัดถล่มประเทศหมู่เกาะแห่งนี้หรือพื้นที่น้ำโดยรอบทุกปี ส่งผลให้บ้านเรือนและโครงสร้างพื้นฐานได้รับความเสียหาย และคร่าชีวิตผู้คนไปหลายสิบราย
การศึกษาล่าสุดแสดงให้เห็นว่าพายุในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังก่อตัวใกล้ชายฝั่งมากขึ้น, ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว และกินเวลานานขึ้นบนพื้นดิน เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กรมอุตุฯ ออกประกาศเรื่องพายุโทราจีฉบับสองย้ำไร้ผลกับไทย!
น.ส.สุกันยาณี ยะวิญชาญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม