'ไบเดน' เตือนรัสเซีย เจอความหายนะแน่หากรุกรานยูเครน

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เชื่อว่าประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน จะดำเนินการอะไรสักอย่างกับยูเครน เตือนหากรัสเซียบุกเพื่อนบ้านชาตินี้จะเจอกับ "ความหายนะ" แต่กลับทำสับสนเมื่อบอกว่าการรุกรานเล็กๆ น้อยๆ ก็จะเจอกับการตอบโต้นิดหน่อยจากตะวันตก ทำเนียบขาวต้องรีบแก้ว่ารุกรานแค่ไหนก็โดนเอาคืนหนัก

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แถลงข่าวที่ทำเนียบขาวเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2565 หนึ่งวันก่อนถึงวันครบรอบดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐครบ 1 ปี (Photo by MANDEL NGAN / AFP)

รอยเตอร์และเอเอฟพีรายงานเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม 2565 ว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ แถลงข่าวที่ทำเนียบขาวยาวนานร่วม 2 ชั่วโมงเมื่อวันพุธที่ผ่านมา แต่สารของเขากลับสร้างความสับสนและไม่แน่นอนเกี่ยวกับจุดยืนร่วมกันของโลกตะวันตกว่าจะตอบโต้รัสเซียอย่างไร หากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ตัดสินใจรุกรานยูเครน

"ผมเดาว่าเขาจะเข้าไป" ไบเดนกล่าวถึงปูติน "เขาต้องทำอะไรสักอย่าง"

รัสเซียวางกำลังทหารประมาณ 100,000 นายพร้อมกับยุทโธปกรณ์ใกล้ชายแดนยูเครน ก่อความหวั่นหวาดในโลกตะวันตกว่า ปูตินกำลังเตรียมการรุกราน เพื่อป้องกันไม่ให้ยูเครนเข้าเป็นสมาชิกขององค์การนาโต แต่รัฐบาลรัสเซียปฏิเสธคำกล่าวหานี้

ไบเดนกล่าวว่า สหรัฐและประเทศพันธมิตรพร้อมจะก่อความเสียหายและความสูญเสียที่รุนแรงต่อรัสเซียและเศรษฐกิจของรัสเซีย

"รัสเซียจะต้องรับผิดชอบหากรุกราน และนั่นขึ้นอยู่กับสิ่งที่รัสเซียทำ หากเป็นการรุกรานเล็กน้อยก็เป็นเรื่องหนึ่ง สุดท้ายเราจะต้องต่อสู้กันเกี่ยวกับสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ และอื่นๆ" ผู้นำสหรัฐกล่าว "แต่หากพวกเขาทำสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้จริงๆ ด้วยกำลังที่ระดมอยู่ตามแนวชายแดน ก็จะกลายเป็นความหายนะสำหรับรัสเซีย "ค่าใช้จ่ายในการเข้ายูเครนในแง่ของการสูญเสียชีวิต สำหรับชาวรัสเซีย จะเป็นการสูญเสียหนัก"

คำกล่าวของไบเดนเกี่ยวกับ "การรุกรานเล็กๆ น้อยๆ" สร้างความสับสน และทำให้สมาชิกสภาคองเกรสพรรครีพับลิกันดาหน้าออกมาตำหนิ โดยกล่าวหาว่าไบเดนเปิดไฟเขียวทางกลยุทธ์ให้รัสเซียส่งทหารบุกยูเครนได้

ทำเนียบขาวต้องรีบชี้แจงแถลงไขในเวลาไม่นานหลังจากไบเดนเสร็จสิ้นการแถลงข่าว โดยย้ำว่าการเคลื่อนไหวทางทหารของรัสเซียเข้าสู่ยูเครนไม่ว่าในระดับใด จะเจอกับการตอบโต้ที่หนักหน่วง

"หากกำลังทหารรัสเซียเคลื่อนข้ามพรมแดนยูเครน นั่นถือเป็นการรุกรานครั้งใหม่ และจะเผชิญกับการตอบโต้อย่างรวดเร็ว, รุนแรง และเป็นเอกภาพ จากสหรัฐและชาติพันธมิตรของเรา" เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาว กล่าว พร้อมกับอธิบายเจตนาของไบเดนว่า รัสเซียมีกลยุทธ์กว้างขวางในการรุกรานที่ไม่ใช่ปฏิบัติการทางทหาร ซึ่งรวมถึงการโจมตีไซเบอร์และยุทธวิธีแบบกึ่งทหาร

ด้านรัฐบาลรัสเซียแถลงเมื่อวันพฤหัสบดี ประณามคำขู่ของไบเดนที่ว่ารัสเซียจะเผชิญกับการตอบโต้ที่รุนแรงหากรุกรานยูเครน ซึ่งจะก่อความหายนะต่อรัสเซีย ดมิตรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน กล่าวว่า ถ้อยแถลงเช่นนั้นทำให้สถานการณ์ไม่มีความมั่นคงได้ง่ายขึ้น เพราะอาจสร้างแรงบันดาลใจให้พวกหัวร้อนบางคนในยูเครนด้วยความหวังแบบผิดๆ

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ เพิ่งเยือนยูเครนเมื่อวันพุธ และกำลังปรึกษาหารือกับชาติพันธมิตรในยุโรปวันพฤหัสบดี ก่อนจะพบกับเซอร์เกย์ ลัฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ที่เจนีวาในวันศุกร์

ขณะที่มีรายงานว่า กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐเปิดไฟเขียวให้ลิทัวเนีย, ลัตเวีย และเอสโตเนีย สามชาติบอลติกที่เคยเป็นสมาชิกสหภาพโซเวียตเช่นเดียวกับยูเครน สามารถส่งมิสไซล์และอาวุธที่ผลิตโดยสหรัฐ เข้าสู่ยูเครนได้ โดยแหล่งข่าวกล่าวว่า ข้อตกลงเคลื่อนย้ายอาวุธไปประเทศที่สามนี้จะอนุญาตให้เอสโตเนียส่งมิสไซล์ต่อต้านรถถัง แจฟลิน ไปยังยูเครน ส่วนลิทัวเนียจะได้รับอนุญาตให้ส่งมิสไซล์สติงเกอร์ไปที่นั่น

อาร์วีดาส อานูซอสคัส รัฐมนตรีกลาโหมลิทัวเนีย ยืนยันว่า ลิทัวเนียกำลังส่งความช่วยเหลือด้านการป้องกันและด้านอื่นๆ ไปให้ยูเครน โดยหวังว่าจะป้องปรามรัสเซียจากการโจมตี

ก่อนหน้านี้ รัสเซียก็ส่งทหารเข้าเบลารุส พันธมิตรในกลุ่มอดีตสหภาพโซเวียต โดยอ้างว่าเพื่อฝึกทหารร่วม การมีกำลังทหารที่นั่นจะเปิดทางเลือกให้รัสเซียโจมตียูเครนได้ทั้งทางทิศเหนือ, ตะวันออก และทิศใต้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง