ทรัมป์ทยอยแต่งตั้งทีมงาน ก่อนกลับไปเยือนทำเนียบขาวตามคำเชิญไบเดน

โดนัลด์ ทรัมป์ยังคงเดินหน้าเสริมความแข็งแกร่งให้กับทีมงานชุดใหม่ที่เป็นการผสมผสานระหว่างบุคคลมากประสบการณ์และผู้มีแนวคิดแข็งกร้าว ก่อนการพบปะกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งจะเป็นการเยือนทำเนียบขาวครั้งแรกของเขาในรอบ 4 ปี

(Photo by SAUL LOEB and JEFF KOWALSKY / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 13 พฤศจิกายน 2567 กล่าวว่า โดนัลด์ ทรัมป์ วัย 78 ปีจากพรรครีพับลิกัน ซึ่งได้รับชัยชนะเด็ดขาดเหนือรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริสในการเลือกตั้งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จะกลับมายังวอชิงตันอย่างยิ่งใหญ่โดยจะพบกับประธานาบดีโจ ไบเดนที่ห้องทำงานรูปไข่ ตามธรรมเนียมปฏิบัติ

นอกจากนี้ ทรัมป์มีกำหนดเยือนรัฐสภาซึ่งพรรคของเขาชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงข้างมากอย่างฉิวเฉียดในวุฒิสภา และเตรียมที่จะยืนยันอย่างเป็นทางการว่าพรรคฯจะรักษาเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรไว้ได้เช่นกัน

เหลือเวลาอีกเพียงสองเดือนกว่าที่ทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ในช่วงนี้เขาจึงเร่งสรรหาและวางตัวทีมงานบริหารในตำแหน่งสำคัญๆ ตามที่มีข่าวออกมาเป็นระยะ

นอกจากนี้ เขายังได้รับข่าวดีเมื่อผู้พิพากษาในนิวยอร์กเลื่อนการประกาศผลพิจารณาคดีอาญาของเขาไปเป็นวันที่ 19 พฤศจิกายน เนื่องจากอาจมีการยกฟ้องคดีฉ้อโกงหลายกระทงของเขา ก่อนที่จะมีการพิจารณาโทษตามกำหนด

ขณะนี้ รัฐบาลทั่วโลกกำลังพิจารณาผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆในรัฐบาลของทรัมป์ เพื่อดูว่ารัฐบาลชุดใหม่จะดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบแยกตัวตามที่ทรัมป์เคยลั่นวาจาไว้หรือไม่ รวมทั้งประเด็นการปราบปรามอย่างเข้มงวดต่อผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมาย และการไล่ล่าศัตรูทางการเมืองในประเทศ

ตำแหน่งที่ได้รับการจับตามากที่สุดจนถึงขณะนี้คือรัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งตามรายงานของสื่อหลายสำนักในสหรัฐฯ ทรัมป์เลือกมาร์โก รูบิโอ วุฒิสมาชิกจากฟลอริดาให้ทำหน้าที่สำคัญนี้

ขณะที่ส.ส. ไมเคิล วอลท์ซ อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยรบพิเศษ ได้รับการรับรองจากทรัมป์ให้เป็นที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติคนใหม่

บุคคลทั้งคู่ต่างมีมุมมองที่แข็งกร้าวต่อจีนและไม่ถือเป็นพวกที่ชอบดำเนินนโยบายโดดเดี่ยว แม้ว่ากลุ่มคนบางกลุ่มที่ใกล้ชิดทรัมป์ต้องการให้สหรัฐฯ ถอนตัวจากภารกิจต่างประเทศและตัดสัมพันธ์กับพันธมิตร เช่น นาโต ก็ตาม

ด้านกิจการภายในประเทศ ทรัมป์ได้ส่งสัญญาณว่าเขาจะปฏิบัติตามวาทกรรมหาเสียงสุดโต่งของเขาที่มุ่งปลุกปั่นความกลัวและความโกรธต่อผู้อพยพผิดกฎหมาย และจะมีการเนรเทศจำนวนมากตามที่ให้คำมั่นไว้

เมื่อวันจันทร์ เขาได้แต่งตั้งทอม โฮแมน เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองสายแข็งมากประสบการณ์ ให้เป็น "จักรพรรดิแห่งชายแดน" ของประเทศ เพื่อดูแลงานที่ทั้งยากและต้องอาศัยความดุดัน

สื่อของสหรัฐฯ ยังรายงานด้วยว่า สตีเฟน มิลเลอร์ ผู้เขียนนโยบาย "ห้ามชาวมุสลิมเข้าเมือง" ให้กับทรัมป์ในวาระการบริหารประเทศรอบแรก จะดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจในฐานะรองหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว

ทีมงานของทรัมป์กล่าวว่า ลี เซลดิน ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยมีอำนาจในการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบด้านสภาพอากาศและมลพิษ ซึ่งพรรครีพับลิกันกล่าวว่าเป็นตัวถ่วงต่อการพัฒนาธุรกิจ

คริสตี โนเอม ผู้ว่าการรัฐเซาท์ดาโกตาซึ่งเป็นพันธมิตรของทรัมป์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้ากระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ

เอลีส สเตฟานิก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งนิวยอร์กซึ่งเป็นพันธมิตรตัวยงของทรัมป์และผู้สนับสนุนอิสราเอล ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติ ขณะที่บุคคลสำคัญอีกคนที่สนับสนุนอิสราเอลอย่างไมค์ ฮัคคาบี อดีตผู้ว่าการรัฐอาร์คันซอ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำอิสราเอล

ทั้งนี้ คำเชิญสู่ห้องทำงานรูปไข่ของไบเดนถือเป็นการฟื้นคืนประเพณีการเปลี่ยนผ่านตำแหน่งประธานาธิบดีที่ทรัมป์ฉีกทิ้งเมื่อเขาแพ้การเลือกตั้งในปี 2563 โดยตอนนั้นเขาปฏิเสธที่จะนั่งร่วมกับไบเดนหรือแม้แต่การเข้าร่วมพิธีสาบานตนรับตำแหน่ง

ในช่วงเวลาที่ทรัมป์ขึ้นเครื่องบิน Marine One ครั้งสุดท้ายจากสนามหญ้าของทำเนียบขาวเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 เขาก็ถูกหลายคนในพรรครีพับลิกันปฏิเสธเช่นกัน เนื่องจากเขายุยงให้ฝูงชนบุกโจมตีอาคารรัฐสภา

อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาแห่งความเสื่อมเสียได้หมดไปในไม่ช้า เมื่อพรรครีพับลิกันกลับมาอยู่เคียงข้างทรัมป์อีกครั้ง ในฐานะหัวหน้าขบวนการขวาจัด ซึ่งพาตัวเองกลับคืนสู่อำนาจได้อีกครั้งอย่างเบ็ดเสร็จทั้งในพรรคของตนเองหรือแม้กระทั่งเดโมแครต

แม้ว่าการเสนอชื่อให้บุคคลใหม่เข้าดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีหลายรายการต้องได้รับการอนุมัติจากวุฒิสภา แต่ทรัมป์กำลังพยายามเลี่ยงการกำกับดูแลนั้นโดยบังคับให้มีการแต่งตั้งที่เรียกว่า "การแต่งตั้งในช่วงปิดสมัยประชุม (Recess appointment)" ซึ่งเป็นการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลางโดยประธานาธิบดี เมื่อวุฒิสภาสหรัฐอยู่ในช่วงปิดสมัยประชุม

เขาได้เปลี่ยนประเด็นนี้ให้กลายเป็นการทดสอบความภักดี โดยยืนกรานเมื่อวันเสาร์ว่าสมาชิกพรรครีพับลิกันคนใดก็ตามที่ต้องการเป็นผู้นำวุฒิสภา "ต้องยอมรับ" ขั้นตอนที่ผิดปกตินี้

เป็นที่ทราบกันดีว่าทรัมป์เรียกร้องความภักดีส่วนตัวอย่างเต็มที่จากผู้ช่วยและคณะรัฐมนตรีที่ได้รับการเลือกสรร โดยผู้ที่ได้รับเลือกทุกคนทำการปกป้องเขาและสนับสนุนคำโกหกซ้ำแล้วซ้ำเล่าของเขาว่าเขาคือผู้ชนะตัวจริงในการเลือกตั้งเมื่อปี 2563.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นายกฯอิ๊งค์' ยกไอแพดคุย 'ทรัมป์' แสดงความยินดีชนะเลือกตั้ง ยันไทยพร้อมทำงานกับสหรัฐฯ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สนทนาทางโทรศัพท์กับ นายโดนัลด์ เจ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิ