ผู้นำจากหลายสิบชาติร่วมประชุม COP29 ที่อาเซอร์ไบจาน แต่ผู้นำระดับสูงหลายคนไม่เข้าร่วมการเจรจาเรื่องสภาพอากาศของสหประชาชาติครั้งนี้ คาดว่าอาจเป็นแรงกระเพื่อมจากชัยชนะเลือกตั้งของโดนัลด์ ทรัมป์
มุคทาร์ บาบาเยฟ ประธาน COP29 กล่าวสุนทรพจน์ระหว่างเปิดการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติประจำปี 2024 (COP29) ในกรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน (Photo by Alexander NEMENOV / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน 2567 กล่าวว่า การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 29 (COP29) เริ่มต้นขึ้นแล้วที่เมืองหลวงของประเทศอาเซอร์ไบจาน โดยคาดว่าจะมีผู้นำมากกว่า 75 คนเข้าร่วมการประชุมตลอด 2 วันที่กรุงบากู แต่ผู้นำของชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่ทรงอิทธิพลและก่อมลพิษมากที่สุดบางส่วนจะไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดในปีนี้
คาดว่าจะมีผู้นำจากกลุ่ม G20 เพียงไม่กี่คนเดินทางมายังบากู รวมถึงนายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ ของอังกฤษ โดยประเทศกลุ่ม G20 ถือเป็นต้นเหตุของการก่อก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่า 80% ของทั้งโลก
ผู้นำอังกฤษจะเปิดเผยนโยบายการปรับปรุงเป้าหมายด้านสภาพอากาศของสหราชอาณาจักรในช่วงบ่ายวันนี้ และกล่าวว่าเขาต้องการให้ประเทศของเขาแสดงความเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาสภาพอากาศ
โจ ไบเดน, สี จิ้นผิง, นเรนทรา โมดี และเอมมานูเอล มาครง อยู่ในบรรดาผู้นำกลุ่ม G20 ที่ไม่ได้เข้าร่วมงานนี้ เนื่องจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแนวทางในอนาคตของสหรัฐฯ ในประเด็นการดำเนินการด้านสภาพอากาศภายใต้ว่าที่ผู้นำคนใหม่อย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ที่หมางเมินเรื่องเหล่านี้มาตลอด
จอห์น โพเดสตา ผู้แทนระดับสูงด้านสภาพอากาศของสหรัฐฯ กำลังพยายามสร้างความมั่นใจให้กับประเทศต่างๆ ในบากูว่าการบริหารงานของทรัมป์จะไม่ทำให้ความพยายามของสหรัฐฯ ในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนต้องสิ้นสุดลง แม้ว่าประเด็นนี้จะถูกละเลยก็ตาม
ถึงแม้จะมีการเรียกร้องให้มีการร่วมมือในระดับโลก แต่การเปิดงานวันแรกกลับเริ่มต้นได้ไม่ราบรื่นนัก เนื่องจากเกิดความขัดแย้งเกี่ยวกับวาระการประชุมอย่างเป็นทางการ ทำให้การเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการที่สนามกีฬาใกล้ทะเลแคสเปียนล่าช้าไปหลายชั่วโมง
เฟอร์นันดา คาร์วัลโญ หัวหน้าฝ่ายสภาพอากาศและนโยบายพลังงานขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) กล่าวว่า "การประชุม COP ครั้งนี้จะเป็นการประชุมที่ยากลำบาก เพราะประเทศต่างๆ แตกแยกกัน, ขาดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน รวมไปถึงความขัดแย้งเกี่ยวกับงบประมาณเพื่อสภาพอากาศ และสิ่งเหล่านั้นจะสะท้อนให้เห็นบนโต๊ะในทุกห้องของการเจรจา"
ทั้งนี้ ลำดับความสำคัญสูงสุดของการประชุม COP29 คือการบรรลุข้อตกลงที่ต่อสู้กันมาอย่างหนักเพื่อระดมเงินทุนสำหรับการดำเนินการด้านสภาพอากาศในประเทศกำลังพัฒนา โดยประเทศเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเกาะที่อยู่ต่ำไปจนถึงรัฐที่แตกแยกจากกันซึ่งกำลังทำสงคราม ต่างมีส่วนรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศน้อยที่สุด แต่ส่วนใหญ่กลับมีความเสี่ยงจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น, สภาพอากาศที่เลวร้ายร้าย ตลอดจนภาวะล้มละลายทางเศรษฐกิจ
ประเทศกำลังพัฒนาและองค์กรพัฒนาเอกชนเน้นย้ำว่าประเทศร่ำรวยและประเทศที่ปล่อยมลพิษมานานล้วนเป็นผู้ต้องรับผิดชอบต่อภาวะช็อกจากสภาพภูมิอากาศของโลก
ประเทศต่างๆ ต่อรองเรื่องนี้กันมานานหลายปี โดยมีความเห็นไม่ลงรอยกันว่าควรจ่ายเงินเท่าไร และใครควรจ่าย ทำให้ความคืบหน้าที่สำคัญแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยก่อนการประชุม COP29
ประเทศกำลังพัฒนาเตือนว่า หากขาดเงินทุนเพียงพอ พวกเขาจะประสบปัญหาในการเสนอข้อมูลอัปเดตเกี่ยวกับเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศที่มุ่งสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง ซึ่งประเทศต่างๆ จะต้องยื่นข้อมูลภายในต้นปีหน้า
กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจำนวนน้อยที่บริจาคเงินอยู่ขณะนี้ต้องการให้กลุ่มผู้บริจาคขยายขอบเขตให้รวมถึงประเทศร่ำรวยอื่นๆ และประเทศที่ปล่อยมลพิษสูงที่สุด เช่น จีนและประเทศในอ่าวเปอร์เซีย โดยรัฐบาลปักกิ่งเคยตอบปฏิเสธอย่างหนักแน่นมาแล้ว
ตลอดสองวันนี้จะมีผู้คนราว 50,000 คนเข้าร่วมการประชุมสุดยอดที่ประเทศอาเซอร์ไบจานซึ่งเป็นรัฐอุตสาหกรรมน้ำมันที่อยู่ระหว่างรัสเซียและอิหร่าน รวมถึงผู้นำของประเทศต่างๆ ในแอฟริกา, เอเชีย และละตินอเมริกาหลายประเทศที่ประสบภัยพิบัติจากสภาพภูมิอากาศ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ดร.ธรณ์' เฉลย ฝนตกลงมาแล้ว จะช่วย 'ปะการังฟอกขาว' ได้แค่ไหน
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า
กมธ.ต่างประเทศแนะ 5 ข้อแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
'กมธ.ต่างประเทศ' แนะ 'รัฐบาล' 5 ข้อ แก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง-ฝุ่นพิษข้ามแดน