ประธานาธิบดีโจ ไบเดนเรียกร้องให้ชาวอเมริกันลดอุณหภูมิทางการเมืองลง หลังโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเหนือกมลา แฮร์ริส โดยกล่าวในสุนทรพจน์ต่อคนทั้งชาติว่าตัวเขารับรองการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติ
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กล่าวสุนทรพจน์ต่อชาวอเมริกันทั้งประเทศจากสวนกุหลาบของทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน (Photo by Saul LOEB / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2567 กล่าวว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ กล่าวสุนทรพจน์อันเคร่งขรึมจากทำเนียบขาว เพื่อสื่อสารกับประชาชนทั้งประเทศภายหลังสิ้นสุดการเลือกตั้งใหญ่และได้ผู้นำคนใหม่
เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวลุกขึ้นยืนปรบมือ และโห่ร้องเมื่อไบเดนมาถึงสวนกุหลาบอันเลื่องชื่อเพื่อกล่าวสุนทรพจน์ผ่านการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ โดยชายวัย 81 ปีรายนี้จำเป็นต้องถอนตัวจากการแข่งขันกับทรัมป์ในเดือนกรกฎาคม และมอบการเสนอชื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครตให้กับแฮร์ริส รองประธานาธิบดีของเขา
ไบเดนกล่าวว่า ผลการเลือกตั้งควรจะ "ยุติ" ข้อสงสัยเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตของระบบการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่ถูกกระตุ้นจากการที่ทรัมป์ปฏิเสธที่จะยอมรับความพ่ายแพ้ของเขาเองต่อพรรคเดโมแครตในปี 2563
"สิ่งหนึ่งที่ผมหวังว่าเราจะทำได้ไม่ว่าคุณจะลงคะแนนให้ใคร ก็คือมองกันและกันในฐานะเพื่อนร่วมชาติ ไม่ใช่ในฐานะคู่ต่อสู้ และขอได้โปรดลดอุณหภูมิที่มีต่อการเมือง" ไบเดนกล่าว
ไบเดนยังกล่าวด้วยว่า เขาได้โทรหาทรัมป์เพื่อแสดงความยินดีต่ออดีตประธานาธิบดีที่ถูกถอดถอนถึง 2 ครั้ง และรับรองว่าการเปลี่ยนผ่านอำนาจบริหารจะเป็นไปอย่างสันติและเป็นระเบียบ
ไบเดนกล่าวว่า "ในวันที่ 20 มกราคม จะมีการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติที่นี่ในอเมริกา"
ประธานาธิบดีที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่งได้เรียกร้องให้บรรดาผู้สนับสนุนอย่าเพิ่งหมดหวัง หลังทรัมป์คืนสู่อำนาจและมีแนวโน้มที่จะล้มล้างนโยบายหลายอย่างของไบเดนทันทีที่เขากลับเข้าสู่ทำเนียบขาว
"ขอให้จำไว้ว่าความพ่ายแพ้นั้นเป็นของการแข่งขัน ไม่ได้หมายความถึงตัวเรา" เขากล่าว
ความคิดเห็นของไบเดนนั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับทรัมป์ มหาเศรษฐีที่ปฏิเสธความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีก่อน ซึ่งจุดสุดยอดคือการบุกจู่โจมอาคารรัฐสภาสหรัฐเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 โดยผู้สนับสนุนของทรัมป์
นอกจากนี้ ไบเดนได้เชิญทรัมป์ไปพบที่ทำเนียบขาว ซึ่งจะถือเป็นการพบกันครั้งแรกของทั้งคู่นับตั้งแต่ที่ไบเดนดีเบตกับทรัมป์เมื่อเดือนมิถุนายน และทำให้เขาต้องออกจากการแข่งขันในเวลาต่อมา
ผู้นำโลกให้คำมั่นอย่างรวดเร็วว่าจะทำงานร่วมกับทรัมป์ แม้ว่าจะมีความกังวลในหลายๆ ส่วนเกี่ยวกับแนวทางชาตินิยม "อเมริกาต้องมาก่อน (America First)" ของเขา และการยึดมั่นที่จะจัดเก็บภาษีนำเข้าจากต่างประเทศในอัตราสูง
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนกล่าวว่า "รัฐบาลปักกิ่งและวอชิงตันต้องหาทางประสานกันให้ได้" ในข้อความที่ส่งถึงทรัมป์ โดยเรียกร้องให้มีความสัมพันธ์ทวิภาคีที่มั่นคง
หลังจากได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น ทรัมป์ซึ่งขณะนี้อยู่ในฟลอริดา กำลังจัดตั้งคณะทำงานเพื่อการเปลี่ยนผ่านของเขา ซึ่งประกาศว่าจะเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาและโลกอย่างสิ้นเชิง
ทีมหาเสียงของเขาออกแถลงการณ์เมื่อช่วงค่ำวันพุธว่า "ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ประธานาธิบดีทรัมป์จะคัดเลือกบุคลากรเพื่อรับใช้ประเทศของเราภายใต้การนำของเขา"
โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี จูเนียร์ ผู้นำขบวนการต่อต้านวัคซีนซึ่งทรัมป์ให้คำมั่นว่าจะมีบทบาทสำคัญในการดูแลงานด้านสาธารณสุข กล่าวกับเอ็นบีซีนิวส์เมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า "ผมจะไม่มีวันแย่งชิงวัคซีนของใครไป"
อย่างไรก็ตาม อดีตผู้สมัครอิสระที่ถอนตัวออกจากการแข่งขันเพื่อหันมาสนับสนุนทรัมป์ ย้ำว่ารัฐบาลใหม่จะดำเนินการกำจัดฟลูออไรด์ออกจากแหล่งน้ำของประเทศ ซึ่งเป็นปัญหามายาวนาน
อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลก อาจได้ทำงานการเมืองเช่นกัน หลังจากสนับสนุนทรัมป์อย่างออกหน้าออกตา โดยประธานาธิบดีคนใหม่กล่าวว่าเขาจะขอให้ผู้บริหารบริษัทสเปซเอ็กซ์, เทสลา และเอ็กซ์ ตรวจสอบรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
ผลสำรวจผู้มีสิทธิเลือกตั้งในสหรัฐฯ ชี้ว่าคนส่วนใหญ่ต้องการสนับสนุนนโยบายขวาจัดของทรัมป์ และไม่เห็นด้วยกับผลงานของไบเดนและแฮร์ริส โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ
รัฐบาลทรัมป์ 2.0 อาจเริ่มต้นด้วยการหยุดให้เงินช่วยเหลือทางทหารมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์แก่ยูเครน โดยก่อนหน้านี้ทรัมป์เคยอ้างว่าเขาจะกดดันรัฐบาลเคียฟให้ทำข้อตกลงสันติภาพกับรัสเซียไปซะ เพื่อจบสงคราม
ทรัมป์จะกลับไปที่ทำเนียบขาวในฐานะผู้ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเตรียมที่จะทำลายนโยบายสีเขียวของไบเดนด้วยคำมั่นสัญญาของเขาที่จะเจาะและขุดน้ำมันมากขึ้น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ใครลอกใคร! การเมืองอเมริกา 5 เรื่อง ที่เหมือนไทยเป๊ะ
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า การเมืองไทย-อเมริกา เหมือนหรือแตกต่างกัน?
'ทรัมป์'เอฟเฟกต์'อิ๊งค์'เร่งกู้ชีพศก. ดึงทุกกลไก-อัดเม็ดเงินเข้าระบบ
หลังรัฐบาล “นายกฯ อิ๊งค์”-แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี บริหารประเทศเข้าสู่เดือนที่ 3 แล้ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายในการแก้ไขปัญหาของประเทศหลายด้าน ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ที่เป็นทั้งปัญหาเก่าสะสมมายาวนาน และปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นจากปัจจัยโลกหลายด้านที่ล้วนส่งผลกระทบต่อประเทศไทยให้นายกฯ อิ๊งค์ต้องรับมือ