พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เปิดปากครั้งแรกนับแต่อาเซียนงดเชิญเข้าร่วมซัมมิตเดือนนี้ ระบุรัฐบาลเมียนมายึดมั่นต่อการฟื้นฟูประชาธิปไตย ชี้อาเซียนควรพิจารณาการยั่วยุและความรุนแรงที่ฝ่ายค้านก่อขึ้นด้วย วันเดียวกันยังประกาศนิรโทษกรรมผู้ประท้วงที่โดนจับกุมหรือโดนหมายจับมากกว่า 5,600 คน
รายงานรอยเตอร์เมื่อวันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม 2564 กล่าวว่า พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา แถลงทางโทรทัศน์ในวันเดียวกันนี้ ย้ำว่ารัฐบาลของเขามีกระบวนการฟื้นฟูประชาธิปไตยแบบ 5 ขั้นของตนเอง และข้อเรียกร้องบางประการของผู้แทนพิเศษอาเซียนนั้นเป็นเรื่องที่ไม่อาจเจรจาต่อรองได้
ในคำแถลงครั้งแรกนับแต่อาเซียนประกาศงดเชิญเขาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนระหว่างวันที่ 26-28 ตุลาคมนี้ พลเอกอาวุโสผู้นี้ไม่ได้กล่าวถึงการตัดสินใจดังกล่าวของอาเซียนโดยตรง แต่บอกว่า รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (เอ็นยูจี) ซึ่งเป็นกลุ่มผิดกฎหมายในเมียนมา และกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธต่างๆ กำลังพยายามบ่อนทำลายกระบวนการสันติภาพที่อาเซียนเป็นผู้นำ
"เกิดความรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากการยั่วยุของกลุ่มก่อการร้าย" มิน อ่อง หล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ กล่าวระหว่างการแถลงโดยแต่งกายในชุดพลเรือน "ไม่มีใครใส่ใจความรุนแรงของคนพวกนี้ และเอาแต่เรียกร้องให้เราแก้ปัญหา อาเซียนควรทำงานในเรื่องนี้ด้วย"
เอ็นยูจี ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาที่ประกอบด้วยอดีต ส.ส.พรรคของนางซูจี, นักเคลื่อนไหวฝ่ายต่อต้าน และตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ สนับสนุนการฝึกและการจัดตั้งกลุ่มติดอาวุธที่ใช้ชื่อเรียกว่า "กองกำลังป้องกันประชาชน" ที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีฝ่ายความมั่นคงในหลายภูมิภาค ไม่นานมานี้เอ็นยูจียังประกาศก่อกบฏทั่วเมียนมา
หลายประเทศในกลุ่มอาเซียนแสดงความไม่พอใจที่ไม่มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญในกระบวนการแก้ไขวิกฤติในเมียนมา ตาม "ฉันทมติ 5 ข้อ" ที่มิน อ่อง หล่าย และผู้นำอาเซียนเห็นพ้องกันเมื่อเดือนเมษายน โดยรัฐบาลเมียนมาปฏิเสธคำร้องขอของเอรีวัน ยูซอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศคนที่ 2 ของบรูไนผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นทูตพิเศษอาเซียนด้านเมียนมา ที่ต้องการพบกับ "ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคน" ในเมียนมา ซึ่งรวมถึงนางอองซาน ซูจี
คำประกาศของที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาระบุว่า ด้วยเหตุนี้อาเซียนจึงตัดสินใจเชิญ "ตัวแทนที่ไม่ใช่ฝ่ายการเมือง" จากเมียนมา เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้แทน
มิน อ่อง หล่าย อ้างว่า เมียนมายังต้องการให้ทูตพิเศษอาเซียนมาเยือนตามที่ได้ตกลงกันไว้ แต่ข้อเรียกร้องบางอย่างนั้นไม่อาจเจรจาต่อรองได้ เขาไม่ได้อธิบายเพิ่มเติม
เมียนมาเคยอ้างว่าไม่สามารถให้ผู้แทนต่างชาติพบกับผู้ที่อยู่ระหว่างการถูกพิจารณาคดีได้ ซึ่งรวมถึงนางซูจี ที่โดนฟ้องร้องหลายข้อหา
ด้านเอ็นยูจีแสดงความยินดีที่อาเซียนไม่ต้อนรับผู้นำรัฐบาลทหาร "การที่อาเซียนกันมิน อ่อง หล่าย ออกไป ถือเป็นก้าวสำคัญ แต่เราร้องขอให้พวกเขายอมรับเราเป็นตัวแทนที่เหมาะสมแทน" ดร. ซาซา โฆษกของเอ็นยูจีกล่าวเมื่อวันจันทร์ แต่เขาบอกเช่นกันว่า เอ็นยูจีจะยอมรับหากอาเซียนเชิญตัวแทนที่เป็นกลางอย่างแท้จริง
ด้านเอเอฟพีรายงานว่า มิน อ่อง หล่าย ยังประกาศด้วยว่า รัฐบาลจะนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่โดนจับกุมหรือโดนออกหมายจับที่เกี่ยวข้องกับการประท้วงต่อต้านรัฐประหาร 5,636 คนในเดือนตุลาคมนี้ โดยในจำนวนนี้มากกว่า 1,300 คนจะได้รับการปล่อยตัวภายใต้เงื่อนไขว่าต้องยอมลงนามข้อตกลงว่าจะไม่ทำผิดซ้ำ
ข้อมูลจากนักเคลื่อนไหวและองค์การสหประชาชาติกล่าวว่า ความรุนแรงในเมียนมานับแต่กองทัพก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ทำให้มีคนเสียชีวิตมากกว่า 1,100 คน และมีคนถูกจับกุมมากกว่า 8,000 คน สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองกล่าวว่า ถึงขณะนี้ยังมีผู้ประท้วงถูกคุมขังอยู่มากกว่า 7,300 คน
เมื่อเดือนมิถุนายน ทางการเมียนมาเคยปล่อยตัวผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารมากกว่า 2,000 คนทั่วประเทศ รวมถึงนักข่าวหลายราย แต่ยังมีหลายคนที่ยังถูกคุมขังอยู่ รวมถึงแดนนี เฟนสเตอร์ นักข่าวชาวอเมริกัน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ภูมิธรรม' เผย 4 ลูกเรือประมงไทยได้กลับบ้าน 4 ม.ค.68 ยันกองทัพไม่ได้อ่อนแอ
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงความคืบหน้าการช่วยลูกเรือประมงไทยทั้ง 4 คนที่ถูกดำเนินคดีและตัดสินโทษจำคุกในข้อหารุกล้ำน่านน้ำเมียนมา ว่า การล่วงล้ำชายแดนไม่ว่าจะเป็นทางบกหรือทางทะเล
'ภูมิธรรม' สั่งปิดชายแดนไทย-เมียนมา 1 เดือน
นายภูมิธรรม เวชยชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมสภา
'มาริษ' เผย 6 ชาติประชุมแก้ปัญหาเมียนมากับเพื่อนบ้าน เป็นไปด้วยดี
นายมาริษ เสงี่ยมพงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงถึงการประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างประเทศเมียนมาและประเทศเพื่อนบ้าน 6 ประเทศ (สปป.ลาว จีน อินเดีย บังกลาเทศ เมียนมา และไทย)