ดาวเทียมไม้ดวงแรกของโลกถูกส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศแล้วโดยจรวด SpaceX ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจส่งเสบียงไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ
"ลิกโนแซต (Lignosat)" ดาวเทียมดวงแรกของโลกที่ทำจากไม้ ถูกพัฒนาโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเกียวโตและบริษัท Sumitomo Forestry ของประเทศญี่ปุ่น (Photo by JIJI PRESS / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 6 พฤศจิกายน 2567 กล่าวว่า นักพัฒนาชาวญี่ปุ่นได้เปิดเผยความสำเร็จในการส่งดาวเทียมไม้ดวงแรกของโลกขึ้นสู่ห้วงอวกาศโดยจรวดสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจส่งเสบียงไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ หรือไอเอสเอส
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเกียวโตคาดว่าวัสดุไม้จะถูกเผาไหม้เมื่ออุปกรณ์กลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งอาจเป็นหนทางหนึ่งในการหลีกเลี่ยงการสร้างอนุภาคโลหะเมื่อดาวเทียมที่ปลดระวางกลับมายังโลก โดยอนุภาคดังกล่าวอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและระบบโทรคมนาคม
ดาวเทียมทดลองรูปทรงกล่องที่มีชื่อว่า "ลิกโนแซต (Lignosat)" แต่ละด้านมีขนาดเพียง 10 เซนติเมตร (4 นิ้ว) เท่านั้น
ศูนย์อวกาศมนุษย์แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโตรายงานว่าดาวเทียมดังกล่าวถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวดไร้คนขับจากศูนย์อวกาศเคนเนดีของนาซาในฟลอริดา
"ดาวเทียมดังกล่าวซึ่งติดตั้งในภาชนะพิเศษที่เตรียมไว้โดยสำนักงานสำรวจอวกาศญี่ปุ่น บินขึ้นสู่อวกาศได้อย่างปลอดภัย" ศูนย์อวกาศฯระบุ
โฆษกหญิงของบริษัท Sumitomo Forestry ซึ่งเป็นบริษัทร่วมพัฒนา "ลิกโนแซต" กล่าวกับเอเอฟพีว่า การปล่อยดาวเทียมครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้
เธอกล่าวว่า "ดาวเทียมจะไปถึงสถานีอวกาศนานาชาติในเร็วๆ นี้ และจะถูกปล่อยออกสู่อวกาศประมาณหนึ่งเดือนให้หลัง เพื่อทดสอบความแข็งแกร่งและความทนทาน"
"ข้อมูลจะถูกส่งไปยังนักวิจัยซึ่งสามารถตรวจหาสัญญาณของภาวะกดดันและกำหนดได้ว่าดาวเทียมสามารถทนต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่รุนแรงได้หรือไม่" โฆษกหญิงทิ้งท้าย
ทากาโอะ โดอิ นักบินอวกาศและศาสตราจารย์พิเศษแห่งมหาวิทยาลัยเกียวโตกล่าวในการแถลงข่าวเมื่อต้นปีนี้ว่า "ต่อจากนี้อวกาศควรได้รับการส่งเสริมให้มีแต่ดาวเทียมที่ไม่ได้ทำจากโลหะ".
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แคปซูลอวกาศ Starliner กลับสู่โลกได้สำเร็จ แต่ปราศจากนักบินอวกาศ
แคปซูลอวกาศ Starliner ที่ประสบปัญหาได้กลับจากสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) มายังโลกได้สำเร็จ โดยไม่มีนักบินอวกาศอยู่บนยานเหมือนที่วางแผนไว้ในตอนแรก