แฮร์ริสหรือทรัมป์? อเมริกันชนต่อคิวลงคะแนนเลือกประธานาธิบดี

ชาวอเมริกันหลายล้านคนมุ่งหน้าไปลงคะแนนเสียงในวันอังคาร เพื่อเลือกผู้นำคนใหม่ระหว่างกมลา แฮร์ริส หรือโดนัลด์ ทรัมป์ที่ต้องลุ้นผลนาทีต่อนาที หลังจากหาเสียงกันอย่างเข้มข้นเป็นเวลานานหลายเดือน

ประชาชนอเมริกันต่อแถวรอลงคะแนนเสียงที่หน่วยเลือกตั้งในห้างสรรพสินค้า Meadows Mall ในลาสเวกัส รัฐเนวาดา เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน (Photo by Frederic J. Brown / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 6 พฤศจิกายน 2567 กล่าวว่า วันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯเริ่มต้นขึ้นแล้ว หลังจากผู้สมัครของพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันหาเสียงกันอย่างเข้มข้นเป็นเวลานานหลายเดือน

ผลการเลือกตั้งที่หลายฝ่ายคาดว่าจะสูสีอย่างมากในครั้งนี้อาจจะทำให้กมลา แฮร์ริสกลายเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศ หรือไม่ก็ทำให้โดนัลด์ ทรัมป์กลับมาครองทำเนียบขาวได้อีกครั้งอย่างน่าหวาดหวั่นไปทั้งโลก

สองผู้แข่งขันต่างใช้เวลาในวันสุดท้ายเพื่อกอบโกยเสียงสนับสนุนและเกี้ยวพาราสีผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ยังตัดสินใจไม่ได้ในรัฐสมรภูมิที่ผลการเลือกตั้งจะเป็นตัวชี้วัดชัยชนะของประธานาธิบดีคนต่อไป

แฮร์ริส รองประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต วัย 60 ปี และทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน วัย 78 ปี ต่างก็มีคะแนนนิยมสูสีกัน ท่ามกลางการแข่งขันกันอย่างดุเดือดด้านนโยบายการหาเสียงและเรื่องราวดราม่า

หลังจากเหตุการณ์พลิกผันที่น่าตกตะลึง เช่น การปรากฏตัวของแฮร์ริสเพื่อทดแทนการถอนตัวของประธานาธิบดีโจ ไบเดนในเดือนกรกฎาคม ไปจนถึงการที่ทรัมป์รอดพ้นจากการลอบสังหารสองครั้งและถูกตัดสินว่ามีความผิดทางอาญา ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้ง 50 รัฐจะออกมาตัดสินบทสรุปของเรื่องราวตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา และกำหนดทิศทางของประเทศมหาอำนาจแห่งนี้

ผู้สมัครทั้งสองคนได้เรียกร้องต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ออกมาลงคะแนน

แฮร์ริสเขียนบนโซเชียลมีเดียว่า "วันนี้เราลงคะแนนเสียงเพราะเรารักประเทศของเราและเราเชื่อในคำสัญญาของอเมริกา"

ทรัมป์ได้เผยแพร่โฆษณาความยาวหนึ่งนาที และโพสต์ว่า "วันนี้จะเป็นวันที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา"

คาดว่าทรัมป์จะออกมาลงคะแนนเสียงในช่วงบ่ายวันอังคารที่ฟลอริดา ส่วนแฮร์ริสซึ่งลงคะแนนเสียงล่วงหน้าทางไปรษณีย์ไปแล้ว มีกำหนดให้สัมภาษณ์ทางวิทยุ

ชาวอเมริกันยืนต่อแถวลงคะแนนเสียงทั่วประเทศ รวมทั้งที่แบล็กเมาน์เทน รัฐนอร์ทแคโรไลนา ซึ่งสถานีลงคะแนนเสียงในวันเลือกตั้งเป็นเพียงเต็นท์ชั่วคราวที่สร้างขึ้นหลังจากเกิดน้ำท่วมรุนแรง

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีขั้นสุดท้ายอาจยังไม่ทราบแน่ชัดจนกว่าจะผ่านไปอีกหลายวัน หากผลออกมาสูสีกันมากอาจทำให้เกิดความตึงเครียดและความแตกแยกมากขึ้นในประเทศ

และยังมีความกลัวว่าจะเกิดความวุ่นวายและความรุนแรงหากทรัมป์แพ้การเลือกตั้ง เหมือนอย่างที่เขาทำในปี 2563

มีการสร้างกำแพงกั้นรอบทำเนียบขาว และมีการรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติมสำหรับเจ้าหน้าที่การเลือกตั้ง

โลกยังเฝ้าจับตามองอย่างใจจดใจจ่อ เนื่องจากผลการเลือกตั้งจะส่งผลอย่างมากต่อความขัดแย้งในตะวันออกกลาง, สงครามของรัสเซียและยูเครน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทรัมป์มองว่าเป็นเรื่องหลอกลวง

การกลับสู่อำนาจของทรัมป์จะจุดชนวนความไม่มั่นคงในระดับนานาชาติทันที โดยพันธมิตรของสหรัฐฯ ในยุโรปและนาโตวิตกกังวลเกี่ยวกับนโยบาย "อเมริกาต้องมาก่อน" ของเขาที่เน้นการแยกตัว

นอกจากนี้ คู่ค้าทางเศรษฐกิจยังจับตาดูคำปฏิญาณของเขาที่จะกำหนดภาษีนำเข้าครั้งใหญ่ ด้วยความกังวล

ทรัมป์กล่าวว่าเขาจะไม่ลงสมัครเลือกตั้งอีกในปี 2571 แต่เขาก็แย้มว่าจะไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ และล่าสุดก็ได้หยิบยกข้อกล่าวหาทุจริตการเลือกตั้งที่ไม่มีมูลความจริงขึ้นมาพูด พร้อมทั้งกล่าวว่าเขาคู่ควรกับทำเนียบขาวมากกว่าใครๆ.

เพิ่มเพื่อน