เมืองหลวงอินเดียเผชิญหมอกควันพิษ เหตุผู้คนฝ่าฝืนกฎหมายห้ามจุดพลุไฟ

กรุงนิวเดลีเผชิญกับหมอกควันพิษในวันศุกร์ เนื่องมาจากการฝ่าฝืนกฎหมายห้ามจุดพลุไฟในเทศกาลแห่งแสงสีของศาสนาฮินดู หรือเทศกาลดิวาลี

ภาพอันลางเรือนของราษฎร์ปติภวัน หรือ ทำเนียบประธานาธิบดีของอินเดีย ท่ามกลางหมอกควันหลังสิ้นสุดเทศกาลดิวาลี ในกรุงนิวเดลี เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน (Photo by Arun SANKAR / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2567 กล่าวว่า กรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย เผชิญกับมลพิษทางอากาศจากการปกคลุมของควันสีขาวขุ่นทั่วพื้นที่อีกครั้ง โดยมีสาเหตุหลักจากการจุดพลุไฟในเทศกาลแห่งแสงสีของศาสนาฮินดู หรือเทศกาลดิวาลี

นิวเดลีเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรมากกว่า 30 ล้านคนและได้รับการจัดอันดับให้เป็นพื้นที่เขตเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ในเดือนตุลาคม ทางการนิวเดลีได้สั่ง "ห้าม" การจุดพลุไฟทุกชนิดอย่างสิ้นเชิง ทั้งการผลิตและการขาย เพื่อรักษาผลประโยชน์สาธารณะในการควบคุมมลพิษทางอากาศที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

แต่ในทางปฏิบัติ กฎหมายห้ามจุดพลุไฟกลับถูกละเลย โดยตำรวจมักลังเลที่จะดำเนินการกับผู้ฝ่าฝืน เนื่องจากผู้ศรัทธาในศาสนาฮินดูมีความรู้สึกทางศาสนาที่แรงกล้าต่อวิถีการจุดพลุไฟเพื่อพิธีบูชา

นิวเดลีถูกปกคลุมไปด้วยหมอกควันพิษทุกปี โดยสาเหตุหลักมาจากการเผาวัชพืชของเกษตรกรในบริเวณใกล้เคียงเพื่อถางไร่นา รวมถึงควันพิษจากโรงงานและจากการจราจร ทำให้ระดับของฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง พุ่งสูงขึ้นเกือบ 23 เท่าของค่าสูงสุดที่องค์การอนามัยโลกแนะนำต่อวัน

ก่อนหน้านี้ ตำรวจนิวเดลีทำการยึดพลุไฟได้เกือบสองตันก่อนเทศกาล แต่พลุไฟเหล่านั้นกลับวางขายได้ง่ายในรัฐใกล้เคียง จึงทำให้การจุดเกิดขึ้นตามปกติในพื้นที่เมืองส่วนใหญ่ เป็นที่มาของเมืองหลวงในหมอกขาวช่วงสุดสัปดาห์

สารมลพิษที่ตรวจพบในอากาศของนิวเดลีมีปริมาณสูงถึง 345 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามรายงานของบริษัทตรวจสอบ IQAir ในวันศุกร์ ซึ่งระบุว่าอากาศในมหานครขนาดใหญ่แห่งนี้เป็น "อันตราย" และจัดอยู่ในกลุ่มที่แย่ที่สุดในโลก

โดยบริษัทฯจัดอันดับให้นิวเดลีเป็นเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก สูงกว่าเมืองลาฮอร์ของปากีสถานซึ่งเต็มไปด้วยควันบุหรี่ และอยู่ห่างออกไปทางตะวันตกเฉียงเหนือเพียง 400 กิโลเมตร

ในช่วงเทศกาล ชาวเมืองหลายคนเฉลิมฉลองกันที่บ้าน โดยรับประทานอาหารร่วมกันและจุดเทียนเล็กๆ เพื่อสรรเสริญพระแม่ลักษมี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของแสงสว่างเหนือความมืด ขณะที่ชาวเมืองบางคนจุดพลุไฟและประทัดที่ดังสนั่น ทำให้เมืองคับคั่งไปด้วยผู้คนตลอดทั้งคืน

นักวิจารณ์กล่าวว่า การโต้เถียงระหว่างนักการเมืองคู่แข่งที่เป็นผู้นำรัฐใกล้เคียง รวมทั้งระหว่างหน่วยงานระดับกลางและระดับรัฐ ได้ทำให้ปัญหาทวีความรุนแรงขึ้น

เมื่อเดือนที่แล้ว ศาลฎีกาของอินเดียตัดสินว่าอากาศบริสุทธิ์เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และสั่งให้ทั้งรัฐบาลกลางและหน่วยงานระดับรัฐดำเนินการแก้ไขปัญหามลพิษอย่างเร่งด่วน

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียพยายามลดภาวะมลพิษด้วยการจำกัดการจราจรของยานพาหนะ รวมถึงโครงการที่อนุญาตให้รถยนต์ที่มีป้ายทะเบียนเลขคี่หรือเลขคู่วิ่งสลับวันกัน รวมทั้งสั่งห้ามงานก่อสร้างและห้ามรถยนต์ดีเซลเข้ามาวิ่งในเมืองในบางช่วงอีกด้วย

แต่ความพยายามของรัฐบาลก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาคุณภาพอากาศของประเทศได้ โดยหลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นเพราะการขาดความมุ่งมั่นจากทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลของแต่ละรัฐ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอชูชัย' ชงยุทธศาสตร์แก้ PM2.5 หนุน HIA สร้างความเข้มแข็งชุมชนท้องถิ่น ภาคธุรกิจร่วมรับผิดชอบ

'หมอชูชัย' ชี้ปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหามลพิษทางอากาศที่สำคัญ เกิดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นประจำทุกปี ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง เสนอยุทธศาสตร์สนับสนุน HIA สร้างความเข้มแข็งอบจ.และชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ เรียกร้องภาคธุรกิจมีความรับผิดชอบพัฒนาอย่างยั่งยืน