ประธานาธิบดีบังกลาเทศเผชิญกับแรงกดดันเพิ่มขึ้นที่ต้องการให้ลาออกจากตำแหน่ง ตามหลังการขับไล่อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงที่ต้องหลบหนีภัยการเมืองไปยังอินเดียตั้งแต่เดือนสิงหาคม
ประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด ชาฮาบุดดิน ของบังกลาเทศ (Photo by Yasuyoshi CHIBA / POOL / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม 2567 กล่าวว่า ประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด ชาฮาบุดดิน ของบังกลาเทศ เผชิญกับแรงกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งที่ถูกแต่งตั้งโดยอดีตนายกฯหญิงชีค ฮาซีนา ซึ่งถูกขับไล่โดยกลุ่มนักศึกษาจนต้องลี้ภัยไปอินเดียเมื่อเดือนสิงหาคม
ชาฮาบุดดิน วัย 74 ปี ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ "ชุปปู" ได้รับการแต่งตั้งผ่านกระบวนการรัฐสภาในปี 2566 โดยกลุ่มอาวามีลีกของฮาซีนาที่ถูกขับออกจากตำแหน่งไปแล้ว แม้ว่าตำแหน่งนี้จะมีบทบาทด้านพิธีการเท่านั้น แต่การพยายามขับเขาออกด้วยกลไกตามรัฐธรรมนูญอาจมีปัญหาตามมา ดังนั้นการกดดันให้เขาลาออกเองจึงจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด
"การตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับการปลดประธานาธิบดีจะขึ้นอยู่กับฉันทามติทางการเมือง" ชาฟิกูล อาลัม ที่ปรึกษาฝ่ายสื่อมวลชนของรัฐบาลรักษาการที่เข้ามาบริหารแทนที่ฮาซีนา กล่าวเมื่อวันจันทร์
รัฐบาลรักษาการนี้นำโดยมูฮัมหมัด ยูนุส ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ซึ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศเพื่อมารับตำแหน่ง "ที่ปรึกษาหลัก" ในการบริหารบังกลาเทศ
ไซดา ริซวานา ฮาซาน โฆษกรัฐบาล ซึ่งเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีของยูนุส กล่าวว่า "มีการหารือกันอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการปลดชาฮาบุดดิน"
"ต้องพิจารณาว่ารัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการปฏิวัติควรคงประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกโดยรัฐบาลฟาสซิสต์ไว้หรือไม่" ฮาซานกล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันอาทิตย์ โดยความต้องการให้ปลดเขาออกจากตำแหน่งมีสาเหตุมาจากการอ้างว่าการปฏิบัติของเขาไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการฟื้นฟูระบบการเมืองของประเทศ
เมื่อต้นเดือนนี้ ชาฮาบุดดินได้จุดชนวนให้เกิดการประท้วงอย่างรุนแรง หลังจากที่เขากล่าวว่าเขาไม่เคยเห็นจดหมายลาออกจากตำแหน่งของฮาซีนาเลย โดยชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มว่าการลาออกของเธอจะเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย
ไม่นานหลังจากนั้น อาซิฟ นัสรูล ผู้นำการประท้วงของนักศึกษาซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งอยู่ในรัฐบาลของยูนุส กล่าวหาว่าความคิดเห็นดังกล่าวเป็นการละเมิดคำสาบานในการรับตำแหน่งประธานาธิบดี
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตำรวจปะทะกับฝูงชนหลายร้อยคนที่พยายามบุกเข้าไปในบริเวณทำเนียบประธานาธิบดี ทำให้เจ้าหน้าที่และผู้ประท้วงได้รับบาดเจ็บ 30 คน
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีอุปสรรคใหญ่ในการผลักดันให้ถอดถอนประธานาธิบดีด้วยวิธีที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
การจะถอดถอนประธานาธิบดีต้องได้รับเสียงสนับสนุนสองในสามของรัฐสภา โดยประธานสภาจะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งแทนหลังจากนั้น
อย่างไรก็ตาม รัฐสภาได้ถูกระงับการปฏิบัติหน้าที่หลังจากที่ฮาซีนาถูกปลดออกจากตำแหน่ง ซึ่งหมายความว่ากระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีจะเกิดขึ้นได้อย่างไร และใครจะเป็นผู้เลือกผู้สืบทอดตำแหน่งของเขาหลังจากนั้น
"หากเราต้องการใช้ประโยชน์สูงสุดจากการลุกฮือครั้งนี้ เราไม่ควรปล่อยให้ความคิดชั่ววูบมาชี้นำ ซึ่งอาจสร้างสุญญากาศทางรัฐธรรมนูญ" มีซาร์ ฟัครูล อิสลาม อาลามกีร์ เลขาธิการพรรคชาตินิยมบังกลาเทศ (บีเอ็นพี) กล่าว
ขณะที่กลุ่มผู้ประท้วงนักศึกษาที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้จุดชนวนการลุกฮือต่อต้านฮาซีนา เรียกร้องให้มีการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว
"เราไม่ต้องการให้สถานการณ์นี้ยืดเยื้อ" กลุ่มนักศึกษากล่าว โดยอ้างว่ามีเพียงพรรคชาตินิยมบังกลาเทศเท่านั้นที่คัดค้านการปลดประธานาธิบดี
แต่มามูน อัล มุสตาฟา ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธากา เตือนว่าการท้าทายตำแหน่งดังกล่าวอาจนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่กว่าเดิม
"คำถามคือประชาชนสามารถบรรลุฉันทามติเกี่ยวกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้โดยตรงหรือไม่ และถึงแม้ว่าจะทำได้ ใครจะรู้ว่าจะมีการประท้วงในวันถัดไปหรือเปล่า" มุสตาฟากล่าว
"รัฐบาลรักษาการเองก็อยู่ในสถานะที่เปราะบาง และไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะจัดการกับความไม่มั่นคงดังกล่าวได้ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป หรืออาจจะนำไปสู่วัฏจักรแห่งความโกลาหลอีกครั้ง" มุสตาฟาทิ้งท้าย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
วิสาหกิจเพื่อสังคม องค์กรน้ำดีที่รอวันเติบโต
วิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise) หรือ องค์กรที่ประกอบธุรกิจเพื่อช่วยเหลือสังคม นับเป็นองค์กรประเภทหนึ่งที่มีบทบาทในนำแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development) ไปปฏิบัติอย่างแท้จริงได้ ในช่วงเวลา ๒-๓ ทศวรรษที่ผ่านมา วิสาหกิจเพื่อสังคมในหลายประเทศทั่วโลกที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสมพิสูจน์ให้เห็นว่า การประกอบธุรกิจขององค์กรสามารถช่วยเหลือสังคมได้จริง ตัวอย่างเช่น ธนาคารกรามีน (Grameen Bank) ในประเทศบังกลาเทศ