ชาวอินเดียกว่าล้านคนเร่งอพยพหนีพายุไซโคลน 'ดานา' ที่กำลังใกล้เข้ามา

ประชาชนอย่างน้อย 1.1 ล้านคนบนชายฝั่งตะวันออกของอินเดียกำลังเร่งอพยพไปยังศูนย์หลบภัยในพื้นที่ห่างจากชายฝั่ง ก่อนการมาเยือนของพายุไซโคลนรุนแรงที่อาจสร้างความเสียหายวงกว้างในพื้นที่ลุ่มต่ำ

เมฆดำปกคลุมอ่าวเบงกอล ขณะที่คนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวยืนอยู่ริมชายหาดเมืองดีกา ในรัฐเบงกอลตะวันตกของอินเดีย ห่างจากเมืองโกลกาตาไปทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 200 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม (Photo by Dibyangshu SARKAR / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม 2567 กล่าวว่า พายุไซโคลน 'ดานา' มีแนวโน้มที่จะพัดถล่มรุนแรงบริเวณชายฝั่งของรัฐเบงกอลตะวันตกและรัฐโอริสสาซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรประมาณ 150 ล้านคน ในช่วงค่ำของวันพฤหัสบดี ตามรายงานของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาอินเดียที่คาดการณ์ว่าลมจะกระโชกแรงถึง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

สนามบินหลักจะปิดทำการในช่วงกลางคืน รวมถึงโกลกาตาซึ่งเป็นเมืองสำคัญด้านการเดินทาง เนื่องจากเกิดฝนตกหนักถล่มมหานครขนาดใหญ่แห่งนี้

คาดว่าตาของพายุจะขึ้นฝั่งในช่วงเช้าของวันศุกร์ ใกล้กับท่าเรือส่งออกถ่านหิน 'Dhamra' ซึ่งอยู่ห่างจากโกลกาตาไปทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 230 กิโลเมตร

คาดการณ์ว่าคลื่นที่ซัดเข้าฝั่งจะท่วมพื้นที่ชายฝั่งเป็นบริเวณกว้าง และอาจพุ่งขึ้นสูงถึง 2 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปกติ

มูเกช มาฮาลิง รัฐมนตรีสาธารณสุขของรัฐโอริสสา กล่าวกับเอเอฟพีว่า "ประชาชนเกือบล้านคนจากพื้นที่ชายฝั่งกำลังอพยพไปยังศูนย์กลาง เพื่อหลบหนีพายุไซโคลน"

ขณะที่รัฐเบงกอลตะวันตกซึ่งอยู่ใกล้เคียงกล่าวว่า "จนถึงขณะนี้ ประชาชนมากกว่า 100,000 คนได้รับการอพยพไปยังสถานที่ที่ปลอดภัยแล้ว"

ภาคธุรกิจต่างๆ ในเมืองปูรีซึ่งเป็นดินแดนรีสอร์ทริมชายหาดยอดนิยม ถูกทางการสั่งปิดและให้เร่งอพยพนักท่องเที่ยวออกจากพื้นที่ทันที

ด้านผู้อำนวยการสนามบินโกลกาตากล่าวว่า เที่ยวบินต่างๆ จะถูกระงับในช่วงค่ำคืนวันพฤหัสบดี เนื่องจากคาดการณ์ว่าจะมีลมแรงและฝนตกหนักถึงหนักมาก

สนามบินในเมืองภูพเนศวรจะดำเนินการเช่นเดียวกัน ในขณะที่รถไฟหลายขบวนถูกยกเลิก และเรือเฟอร์รีจากโกลกาตาถูกสั่งให้จอดอยู่ที่ท่าเรือ

เนื่องจากพายุลูกนี้อาจส่งผลกระทบต่อบังกลาเทศซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำใกล้เคียงด้วยเช่นกัน รัฐบาลจึงเริ่มสั่งการให้ทุกฝ่ายรับมือแล้ว

รัฐมนตรีกระทรวงภัยพิบัติของบังกลาเทศกล่าวกับเอเอฟพีว่า "เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายอยู่ในะดับการเตือนภัยขั้นสูงสุด แต่ยังไม่ได้ออกคำสั่งอพยพ เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าพายุไซโคลนจะปะทะพื้นที่อินเดียมากกว่า และเรากำลังติดตามความคืบหน้าของพายุไซโคลนอย่างใกล้ชิด"

พายุไซโคลนซึ่งเทียบเท่ากับพายุเฮอริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือหรือพายุไต้ฝุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงและเกิดขึ้นบ่อยครั้งในมหาสมุทรอินเดียตอนเหนือ

นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าพายุจะรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล

อย่างไรก็ตาม การพยากรณ์ที่ดีขึ้นและการวางแผนอพยพที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นจะช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้อย่างมาก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับตา 'พายุไซโคลน' อ่าวเบงกอล กระทบจังหวัดแนวขอบตะวันตกไทย

กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า จากภาพถ่ายดาวเทียมล่าสุดเวลา 08.30 น. : ติดตามหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณอ่าวเบงกอล มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้น