ควันหนาปกคลุมนิวเดลี มลพิษทางอากาศกลับมาอันตรายอีกครั้ง

ควันขาวขุ่นปกคลุมเมืองหลวงของอินเดียในวันพุธ คาดมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการจุดดอกไม้ไฟและการเผาวัชพืชในฟาร์มเกษตรเป็นสาเหตุหลักในปีนี้

หมอกควันหนาทึบปกคลุมเส้นขอบฟ้าของกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม (Photo by Shubham KOUL / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 23 ตุลาคม 2567 กล่าวว่า กรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย เผชิญกับมลพิษทางอากาศจากการปกคลุมของควันสีขาวขุ่นทั่วพื้นที่

นิวเดลีเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรมากกว่า 30 ล้านคนและได้รับการจัดอันดับให้เป็นพื้นที่เขตเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพระบุว่า ผู้คนที่สูดอากาศผ่านหมอกควันพิษเหล่านี้เสียชีวิตไปแล้วหลายพันคนทุกปี และการป้องกันด้วยการสวมหน้ากากอนามัยไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเพียงพอ

หมอกควันล่าสุดนี้นอกจากบดบังทัศนวิสัยแล้ว ยังส่งกลิ่นเหม็นอีกด้วย

นิวเดลีถูกปกคลุมไปด้วยหมอกควันพิษทุกปี โดยสาเหตุหลักมาจากการเผาวัชพืชของเกษตรกรในบริเวณใกล้เคียง เพื่อถางไร่นา ทำให้ระดับของฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง พุ่งสูงขึ้นเกือบ 23 เท่าของค่าสูงสุดที่องค์การอนามัยโลกแนะนำต่อวัน

สารมลพิษดังกล่าวมีปริมาณสูงถึง 344 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามรายงานของบริษัทตรวจสอบ IQAir เมื่อวันพุธ ซึ่งระบุว่าอากาศในมหานครขนาดใหญ่แห่งนี้เป็น "อันตราย" และจัดอยู่ในกลุ่มที่แย่ที่สุดในโลก

คาดว่ามลพิษทางอากาศจะแย่ลงอีกในช่วงเทศกาลแห่งแสงสีของชาวฮินดู หรือเทศกาลดิวาลี ซึ่งตรงกับวันที่ 1 พฤศจิกายนของปีนี้ โดยจะมีการจุดพลุควันพิษที่พ่นสารอันตราย เป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลอง

ในเดือนนี้ ทางการนิวเดลีได้สั่ง "ห้าม" การจุดประทัดทุกชนิดอย่างสิ้นเชิง ทั้งการผลิตและการขาย เพื่อรักษาผลประโยชน์สาธารณะในการควบคุมมลพิษทางอากาศที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

แต่ในทางปฏิบัติ ข้อห้ามเหล่านี้มักถูกละเลย โดยตำรวจมักลังเลที่จะดำเนินการกับผู้ฝ่าฝืน เนื่องจากผู้ศรัทธาในศาสนาฮินดูมีความรู้สึกทางศาสนาที่แรงกล้าต่อวิถีการจุดประทัดเพื่อบูชา

นอกจากนี้ทางการยังสั่งห้ามการเผาวัชพืช โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตำรวจในรัฐหรยาณาได้จับกุมเกษตรกรหลายคนในข้อหาจุดไฟเผาวัชพืชก่อนการไถพรวน

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียพยายามลดภาวะมลพิษด้วยการจำกัดการจราจรของยานพาหนะ รวมถึงโครงการที่อนุญาตให้รถยนต์ที่มีป้ายทะเบียนเลขคี่หรือเลขคู่วิ่งสลับวันกัน รวมทั้งสั่งห้ามงานก่อสร้างและห้ามรถยนต์ดีเซลเข้ามาวิ่งในเมืองในบางช่วงอีกด้วย

แต่ความพยายามของรัฐบาลก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาคุณภาพอากาศของประเทศได้

การศึกษาวิจัยในวารสารการแพทย์ Lancet ระบุว่าการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชาชน 1.67 ล้านคนในปี 2562 ของประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกแห่งนี้ เกิดจากมลพิษทางอากาศ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'จุลพันธ์' ยันไม่ให้เงิน 'กรมบัญชีกลาง 'เป็นอุปสรรค แก้ปัญหา PM 2.5 พร้อมหนุนเต็มที่

'จุลพันธ์' ยัน จะไม่ให้เงินของ กรมบัญชีกลาง เป็นอุปสรรค แก้ปัญหา PM 2.5 ย้ำ รัฐบาล' ให้ความสำคัญ คือการส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือ บอก ไม่ต้องกังวลเรื่องงบขาดพร้อมสนับสนุนเต็มที่

ปอด..คนไทยไม่ปลอดภัย "PM2.5-บุหรี่ไฟฟ้า"ตัวร้าย!!

อันตรายที่มองไม่เห็นอย่างฝุ่น PM2.5 กำลังคร่าชีวิตและบ่อนทำลายสุขภาพของคนในสังคมไทยอย่างเงียบเชียบ ด้วยตัวเลขที่มีการยืนยันว่า คนไทยกำลังเผชิญปัญหาฝุ่น PM2.5