ศาลบังกลาเทศออกหมายจับอดีตผู้นำหญิงที่หลบหนี

ศาลบังกลาเทศได้ออกหมายจับอดีตผู้นำหญิงชีค ฮาซีนา ซึ่งลี้ภัยไปยังอินเดียในเดือนสิงหาคม หลังจากเธอถูกโค่นล้มโดยการปฏิวัติที่นำโดยนักศึกษา

อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงชีค ฮาซีนา ของบังกลาเทศ (Photo by INDRANIL MUKHERJEE / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม 2567 กล่าวว่า อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงชีค ฮาซีนา ถูกศาลบังกลาเทศออกหมายจับ ตามข้อกล่าวหาบงการเหตุสังหารหมู่ และก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

"ศาลได้สั่งจับกุมอดีตนายกรัฐมนตรีชีค ฮาซีนา และให้ส่งตัวเธอขึ้นศาลในวันที่ 18 พฤศจิกายน" โมฮัมหมัด ทาจูล อิสลาม อัยการสูงสุดของศาลอาญาระหว่างประเทศของบังกลาเทศ (ICT) กล่าวกับผู้สื่อข่าว และเรียกวันนี้ว่าเป็น "วันสำคัญ" ในขณะที่ญาติของผู้เสียชีวิตนับร้อยรายที่ลุกฮือต่อต้านการปกครองแบบเผด็จการของฮาซีนา กล่าวว่า พวกเขาตั้งหน้าตั้งตารอการพิจารณาคดี เพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับบรรดาผู้เสียชีวิต

"มีหลักฐานระบุชัดว่า ชีค ฮาซีนาเป็นผู้บงการเหตุสังหารหมู่และก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติในเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม" อัยการกล่าว

การปกครองเป็นเวลา 15 ปีของฮาซีนาก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างแพร่หลาย รวมถึงการกักขังจำนวนมากและการสังหารฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของเธอด้วยการใช้อำนาจรัฐ

ปัจจุบัน อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของบังกลาเทศอยู่ระหว่างการลี้ภัยในอินเดียหลังถูกขับไล่จากการประท้วงของกลุ่มนักศึกษา

มีรายงานผู้เสียชีวิตมากกว่า 700 รายในช่วงหลายสัปดาห์ของความไม่สงบก่อนการจากไปอย่างกระทันหันของฮาซีนาและสมาชิกพรรคอวามีลีกของเธอที่พ้นจากรัฐบาลแล้วทั้งหมด โดยกองทัพได้ยึดการปกครองและแต่งตั้งรัฐบาลรักษาการเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่

ศาลยังได้ออกหมายจับโอบาอิดุล ควาเดอร์ อดีตเลขาธิการพรรคอวามีลีกของฮาซีนา รวมทั้งผู้ต้องหาอีก 44 คนที่ไม่ได้รับการเปิดเผยตัวตน

พันธมิตรของฮาซีนาหลายสิบคนถูกควบคุมตัวหลังจากระบอบการปกครองของเธอล่มสลาย โดยถูกกล่าวหาว่ามีส่วนผิดในการปราบปรามของตำรวจที่สังหารผู้คนในช่วงที่เกิดความไม่สงบ

อดีตรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีและสมาชิกระดับสูงคนอื่นๆ ของพรรคฯถูกจับกุม และเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ได้รับแต่งตั้งในรัฐบาลของเธอก็ถูกขับออกจากศาลและธนาคารกลางด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ฮาซีนาไม่ได้ปรากฏตัวต่อสาธารณะอีกเลยนับตั้งแต่หลบหนีออกจากบังกลาเทศด้วยเฮลิคอปเตอร์

มีรายงานว่าที่อยู่อย่างเป็นทางการของอดีตผู้นำหญิงวัย 77 ปีรายนี้ คือฐานทัพอากาศทหารใกล้กับกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย

การที่เธอหลบซ่อนอยู่ในอินเดียซึ่งเคยเป็นผู้มีพระคุณสูงสุดของเธอ ทำให้รัฐบาลรักษาการชุดใหม่ในบังกลาเทศโกรธแค้น

รัฐบาลฯได้เพิกถอนหนังสือเดินทางทางการทูตของเธอ และทั้งสองประเทศมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนแบบทวิภาคี ซึ่งจะอนุญาตให้เธอกลับมาเผชิญการพิจารณาคดีอาญาได้

อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนดในสนธิสัญญาระบุว่าการส่งผู้ร้ายข้ามแดนอาจถูกปฏิเสธได้หากความผิดนั้นเป็น "ลักษณะทางการเมือง"

ทั้งนี้ ศาลอาญาระหว่างประเทศของบังกลาเทศ (ICT) เป็นศาลอาชญากรรมสงครามที่พิจารณาความขัดแย้งซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ โดยรัฐบาลของฮาซีนาเป็นผู้ก่อตั้งขึ้นในปี 2553 เพื่อสอบสวนกรณีโหดร้ายระหว่างสงครามประกาศเอกราชจากปากีสถานในปี 2514

สหประชาชาติและกลุ่มสิทธิมนุษยชนวิพากษ์วิจารณ์ข้อบกพร่องด้านขั้นตอนของศาล และศาลก็ถูกมองอย่างกว้างขวางว่าเป็นเครื่องมือที่ฮาซีนาใช้ในการกำจัดคู่ต่อสู้ทางการเมือง

ศาลกำลังสอบสวนคดีหลายคดีที่กล่าวหาว่าฮาซีนาวางแผนการสังหารหมู่ผู้ประท้วง

ฮาซีนาถูกแทนที่โดยมูฮัมหมัด ยูนุส ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ซึ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศเพื่อมารับตำแหน่งผู้นำรักษาการของบังกลาเทศ

นักบุกเบิกด้านการเงินรายย่อยวัย 84 ปีผู้นี้ กำลังนำรัฐบาลชั่วคราวรับมือกับสิ่งที่เขาเรียกว่าความท้าทายที่ยากอย่างยิ่งในการฟื้นฟูสถาบันประชาธิปไตย

ยูนุสกล่าวว่า เขากำลังสืบทอดระบบบริหารสาธารณะและกระบวนการยุติธรรมที่พังทลายลงอย่างสิ้นเชิง ซึ่งจำเป็นต้องมีการปฏิรูปครั้งใหญ่เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศกลับไปสู่ระบอบเผด็จการในอนาคต.

เพิ่มเพื่อน