ภาพถ่ายดาวเทียมและการบินสำรวจทางอากาศเผยสภาพความเสียหายในตองกาภายหลังภูเขาไฟปะทุเมื่อวันเสาร์ พื้นที่ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยเถ้าภูเขาไฟหนา 2 ซม. รันเวย์ใช้การไม่ได้ อาคารบ้านเรือนจำนวนมากโดนสึนามิพัดถล่ม ยืนยันมีคนสังเวยชีวิต 2 ราย
รายงานเอเอฟพีเมื่อวันอังคารที่ 18 มกราคม 2565 กล่าวว่า การปะทุของภูเขาไฟฮังกา-ตองกา-ฮังกา-ฮาอาปายเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ส่งเถ้าธุลี ควัน และแก๊ส ขึ้นสู่ท้องฟ้าสูง 30 กิโลเมตร และก่อให้เกิดฝนกรดปกคลุมพื้นที่กว้างใหญ่ของมหาสมุทรแปซิฟิก ภาพถ่ายดาวเทียมที่เผยแพร่โดยบริษัทเทคโนโลยีอวกาศ แม็กซาร์เทคโนโลยีส์ เมื่อวันอังคารเผยให้เห็นว่า โครงสร้างของภูเขาไฟลูกนี้ส่วนใหญ่ที่เคยโผล่พ้นน้ำทะเลเมื่อไม่กี่วันก่อน ตอนนี้กลายเป็นทะเล โดยเหลือเกาะภูเขาไฟขนาดค่อนข้างเล็กเพียง 2 เกาะที่ยังโผล่พ้นระดับน้ำทะเล
โลกภายนอกยังคงพยายามรวบรวมข้อมูลขนาดของความเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติครั้งนี้ โดยใช้การสื่อสารผ่านดาวเทียม, ผ่านเที่ยวบินตรวจการณ์ และจากภาพถ่ายดาวเทียม แม้ระบบโทรศัพท์ท้องถิ่นและไฟฟ้าเริ่มกู้คืนได้บางส่วนแล้ว แต่การสื่อสารระหว่างประเทศยังถูกตัดขาด เนื่องจากการปะทุทำให้เคเบิลใต้น้ำใช้การไม่ได้ ผู้ให้บริการเคเบิลใต้น้ำกล่าวว่า การสื่อสารระหว่างตองกากับฟิจิต้องใช้เวลา 2 สัปดาห์จึงจะกู้คืนได้
ขณะที่การสื่อสารกับภายนอกมีช่องทางน้อยมาก องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) เผยในแถลงการณ์วันเดียวกันนี้ว่า ดร.ยูตาโร เซโตยา เจ้าหน้าที่ประสานงานประจำตองกา พยายามเชื่อมต่อสัญญาณดาวเทียมไว้ตลอดทั้งวันในช่วงไม่กี่วันมานี้ เพื่อรักษาสัญญาณโทรศัพท์ผ่านดาวเทียมสำหรับการสื่อสารระหว่างหน่วยงานของยูเอ็นกับรัฐบาลตองกา
สำนักงานประสานงานขององค์การอนามัยโลกประจำแปซิฟิกเผยด้วยว่า มีบ้านประมาณ 100 หลังบนเกาะตองกาตาปูได้รับความเสียหาย โดย 50 หลังพังทลาย เกาะใหญ่เกาะนี้ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงนูกูอะโลฟา มีฝุ่นและเถ้าภูเขาไฟปกคลุมหนา 2 เซนติเมตร ก่อความกังวลเรื่องมลภาวะทางอากาศและอาจเกิดการปนเปื้อนในน้ำและอาหาร
"รัฐบาลแนะนำประชาชนให้อยู่ในอาคาร สวมหน้ากากหากต้องออกไปภายนอก และดื่มน้ำจากขวด เนื่องจากมีเถ้าโปรยปราย" ดับเบิลยูเอชโอทวีตเมื่อวันอังคาร
รัฐบาลนิวซีแลนด์เผยแพร่ภาพถ่ายทางอากาศหลายภาพที่ถ่ายจากเที่ยวบินตรวจการณ์เมื่อวันจันทร์ เปิดเผยสภาพชายฝั่งที่เคยเขียวขจีด้วยต้นไม้เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเทาเพราะฝุ่นเถ้าภูเขาไฟ และมีภาพอาคารหลายหลังที่เสียหายยับเยิน
ส่วนภาพของเครื่องบินลาดตระเวน พี-8 เอ โพไซดอน ของกองทัพออสเตรเลีย เผยสภาพเถ้าภูเขาไฟปกคลุมและภาพตู้คอนเทนเนอร์ล้มกระจัดกระจายเหมือนโดมิโน
เรือ 2 ลำของกองทัพเรือนิวซีแลนด์ และ 1 ลำของออสเตรเลีย ได้รับคำสั่งเตรียมพร้อมหากได้รับคำร้องขอความช่วยเหลือจากตองกา ซึ่งใช้เวลาในการเดินทาง 3-5 วัน
หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติเผยว่า ตรวจพบไฟสัญญาณขอความช่วยเหลือจากเกาะแมงโก ซึ่งมีพื้นที่ต่ำ โดยเที่ยวบินตรวจการณ์ยืนยันว่าเกาะนี้ ซึ่งมีคนอาศัยราว 30 คน และเกาะโฟนอย มีทรัพย์สินเสียหายอย่างหนัก ศูนย์ดาวเทียมสหประชาชาติยังเผยภาพผลกระทบที่เกิดกับเกาะโนมูกา ซึ่งในเกาะที่อยู่ใกล้กับภูเขาไฟมากที่สุด มีสิ่งปลูกสร้าง 41 แห่งจาก 104 แห่งได้รับความเสียหาย
สนามบินตองกากำลังเร่งกำจัดเถ้าภูเขาไฟที่ปกคลุมรันเวย์ด้วย เนื่องจากทำให้เครื่องบินลำเลียง ซี-130 ของออสเตรเลียพร้อมสิ่งของบรรเทาทุกข์ ไม่สามารถลงจอดได้
รัฐบาลนิวซีแลนด์อ้างคำยืนยันของตำรวจตองกาว่า มีคนเสียชีวิต 2 คน สื่ออังกฤษรายงานว่า หนึ่งในนี้คือแองเจลา โกลเวอร์ อายุ 50 ปี ที่ทำงานการกุศลช่วยเหลือสัตว์จรจัด เธอโดนสึนามิที่เกิดหลังภูเขาไฟปะทุ พัดจมหายไปพร้อมกับสุนัขหลายตัว สามีของเธอที่ยึดเกาะต้นไม้ไว้ได้ แจ้งว่าพบศพของเธอแล้ว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จิสด้า อัปเดตภาพดาวเทียม น้ำท่วม 7 อำเภอ เชียงราย ฝั่งเมียนมาพื้นที่สีแดงท่วม 8.4 พันไร่
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า เปิดเผยภาพถ่ายดาวเทียม ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมจากภาพดาวเทียม RADARSAT-2 ของวันที่ 12 กันยายน 2567 เวลา 06.12 น. พบน้ำท่วมขังใน 7 อำเภอของจังหวัดเชียงราย
ระวังฝนตกหนัก! ภาพเรดาร์ชัด เมฆปกคลุม ‘ชัยภูมิ-โคราช’ ภาคใต้อ่าวไทย
กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยภาพถ่ายดาวเทียมและภาพเรดาร์แบบเคลื่อนไหว ถึงเช้าวันนี้
GISTDA เผยภาพดาวเทียม พื้นที่น้ำท่วมในจังหวัดแพร่
GISTDA เผยภาพจาก THEOS-2 เห็นมวลน้ำบางส่วนที่ยังตกค้างอยู่ในจังหวัดแพร่
ภาพถ่ายดาวเทียม พบเมฆฝนเคลื่อนตัวปกคลุม ‘อีสาน’ ลุ้นผลกระทบ ‘ภาคเหนือ-กลาง’
ภาพถ่ายดาวเทียม ค่ำวันนี้ (14/7/67) เมฆฝนเคลื่อนตัวเข้าปกคลุมภาคอีสาน ภาคกลาง ส่วนภาคใต้ฝั่งอันดามันด้านรับลม เมฆฝนปกคลุมเป็นส่วนมาก
เตือนคนกรุง รับมือฝุ่นพิษเพิ่มขึ้นช่วงวันที่ 29-30 มกราคม
ศูนย์สื่อสารการแก้ไขคุณภาพอากาศ (ศกพ.) ขอแจ้งเตือนฝุ่นละออง PM2.5 จากข้อมูลจุดความร้อนจาก GISTDA วันที่ 26 มกราคม 2567 ประเทศไทยมีจุดความร้อน (Hot Spot)