ผลสำรวจชี้ ประชาชนเชื่อมั่นต่อรัฐเผด็จการเพิ่มขึ้น สวนทางกับประชาธิปไตย

ผลสำรวจของเอเดลแมนชี้ ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาลประชาธิปไตยตกต่ำลงในปีที่แล้ว สาเหตุจากการจัดการโรคระบาดที่ผิดพลาดและการมองแนวโน้มเศรษฐกิจในแง่ร้าย สวนทางกับความเชื่อมั่นต่อรัฐเผด็จการอัตตาธิปไตยที่เพิ่มสูงขึ้น โดยจีนครองอันดับ 1 ส่วนไทยความเชื่อมั่นเพิ่มในอันดับ 3

Getty Images

รายงานของรอยเตอร์เมื่อวันอังคารที่ 18 มกราคม 2565 กล่าวว่า ผลการสำรวจมาตรวัดความไว้เนื้อเชื่อใจเอเดลแมน (เอเดลแมนทรัสต์บารอมิเตอร์) ประจำปี 2565 ที่จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นผู้คนหลายหมื่นคนเกี่ยวกับความไว้เนื้อเชื่อใจต่อรัฐบาล, สื่อ, ธุรกิจ และองค์กรเอกชนในประเทศต่างๆ มานาน 2 ทศวรรษ แสดงให้เห็นถึงความไว้วางใจในระดับสูงต่อประเทศที่อยู่ภายใต้การปกครองระบอบอัตตาธิปไตยหลายประเทศ โดยเฉพาะจีน

"เรามีการล่มสลายของความไว้เนื้อเชื่อใจในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง" คำกล่าวของริชาร์ด เอเดลแมน ซึ่งกลุ่มสื่อสารเอเดลแมนของเขาเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถาม 36,000 ราย ใน 28 ประเทศ ระหว่างวันที่ 1-24 พฤศจิกายน 2564

"ทุกอย่างย้อนกลับไปที่คำถามที่ว่า คุณรู้สึกเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจหรือไม่" เขากล่าวเสริม พร้อมกับตั้งข้อสังเกตถึงความวิตกกังวลในระดับสูงเกี่ยวกับการตกงาน ไม่ว่าด้วยเพราะโรคระบาด หรือการถูกทดแทนด้วยเครื่องจักร

ประเทศประชาธิปไตยที่สถาบันต่างๆ สูญเสียความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนมากที่สุดเมื่อปีที่แล้ว คือ เยอรมนี ความไว้วางใจลดลง 7 จุด โดยตกลงมาอยู่ที่ 46% ตามด้วยออสเตรเลีย คะแนนลดลง 6 จุด อยู่ที่ 53%, เนเธอร์แลนด์ ลดลง 6 จุด อยู่ที่ 57%, เกาหลีใต้ ลดลง 5 จุด อยู่ที่ 42% และสหรัฐลดลง 5 จุด อยู่ที่ 43%

กลับกัน ความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนต่อสถาบันต่างๆ ในจีนเมื่อปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นถึง 11 จุด โดยมีคะแนนสูงถึง 83%, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เพิ่มขึ้น 9 จุด อยู่ที่ 76% และไทย เพิ่มขึ้น 5 จุด อยู่ที่ 66%

ผลการสำรวจนี้กล่าวว่า งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจหลายล้านล้านดอลลาร์ที่บรรดาประเทศร่ำรวยที่สุดในโลกใช้สนับสนุนภาคเศรษฐกิจของประเทศช่วงที่เกิดโรคระบาด ไม่สามารถปลูกฝังความเชื่อมั่นที่ยั่งยืนได้

ยกตัวอย่างญี่ปุ่น มีประชาชนเพียงแค่ 15% ที่เชื่อว่าตัวเขาและครอบครัวจะมีชีวิตที่ดีขึ้นภายในเวลา 5 ปี และจากคำถามเดียวกันนี้ ประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ ส่วนใหญ่ก็มีคะแนนที่ประมาณ 20-40% ในขณะที่จีน มีประชาชนเกือบ 2 ใน 3 ที่มองในแง่ดีเกี่ยวกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจ และในอินเดีย มีประชาชนถึง 80% ที่เชื่อว่าพวกเขาจะมีชีวิตที่ดีขึ้นในเวลา 5 ปี

เอเดลแมนกล่าวว่า ระดับความไว้วางใจของประชาชนที่สูงขึ้นในจีนไม่เพียงเกี่ยวโยงกับความรับรู้ด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความรู้สึกที่มีมากขึ้นเรื่องการคาดการณ์ได้เกี่ยวกับนโยบายของจีน ไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องโรคระบาดเท่านั้น

"ผมคิดว่า มีความสอดคล้องกันระหว่างที่สิ่งทำ กับสิ่งที่พูด ยกตัวอย่างเช่น พวกเขามีการจัดการโควิดได้ดีกว่าสหรัฐ" เอเดลแมนกล่าว

ผลการสำรวจล่าสุดของเอเดลแมนสอดคล้องกับการค้นพบในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งแสดงถึงความท้อแท้ที่เพิ่มขึ้นต่อระบบทุนนิยม, ความเป็นผู้นำทางการเมือง และสื่อ

ความกังวลเกี่ยวกับ "ข่าวปลอม" ก็อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์เช่นกัน โดยผู้ตอบแบบสำรวจทั่วโลก 3 ใน 4 กังวลว่าข่าวปลอมจะ "ถูกใช้เป็นอาวุธ" ส่วนความกังวลทางสังคมอื่นๆ นั้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งที่ผู้คนกังวลมากขึ้นในปัจจุบัน เป็นรองแค่ความกังวลจากการตกงานเท่านั้น

ส่วนความคาดหวังต่อผู้นำในภาคธุรกิจยังคงอยู่ในระดับสูง อันเป็นผลจากบทบาทในการพัฒนาวัคซีนและปรับสถานที่ทำงานและแนวทางปฏิบัติด้านการค้าปลีก แม้ว่าราว 2 ใน 5 ยังมีความกังขาต่อความทุ่มเทของภาคธุรกิจด้านการสร้างความเป็นธรรมในสังคม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กสม. ประณาม 'ทักษิณ' ปราศรัยเหยียดเชื้อชาติคนแอฟริกัน ย้ำไทยอยู่ภายใต้ CERD

กสม.ซัด 'ทักษิณ' จ้อเหยียดเชื้อชาติคนแอฟริกัน อบรมคนมีอิทธิพลทางสังคมไม่ควรทำ หวั่นโดนขยายความรุนแรง ซ้ำรอยความสูญเสียในอดีต

'ผู้การติ๊บ' ลุยคุมเข้มสกัดภัยคุกคามทุกรูปแบบ รักษาอธิปไตยไทย

พ.อ.ณัฐกร เรือนติ๊บ หรือ “ผู้การติ๊บ” ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจราชมนู ซึ่งดูแลพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา 5 อำเภอชายแดน จังหวัดตาก (แม่สอด-ท่าสองยาง-พบพระ-อุ้มผาง-แม่ระมาด)

บี้รัฐบาล-ผบ.ตร. เร่งกวาดล้างแก๊งค้ามนุษย์ สแกนเข้มชายแดน ฟันทหารตำรวจนอกรีต

'ธนกร' ขอ 'รัฐบาล-ผบ.ตร.' เร่งกวาดล้างขบวนการค้ามนุษย์หลอกลวงคนหางาน ฝากสแกนเข้มตะเข็บชายแดน หวั่นใช้ไทยเป็นฐานนายหน้าส่งต่อเหยื่อ แนะจัดการเด็ดขาดทหาร-ตร.นอกรีด