ผู้นำรักษาการยืนยัน บังกลาเทศต้องปฏิรูปเสร็จสิ้นก่อนมีเลือกตั้ง

ผู้นำรักษาการของบังกลาเทศปฏิเสธที่จะให้กรอบเวลาสำหรับการเลือกตั้ง หลังจากขับไล่ผู้นำคนก่อน โดยกล่าวในบทสัมภาษณ์ที่เผยแพร่เมื่อวันอังคารว่าจำเป็นต้องมีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง

มูฮัมหมัด ยูนุส ผู้นำรักษาการของบังกลาเทศ (Photo by Munir Uz Zaman / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 8 ตุลาคม 2567 กล่าวว่า หลังการลุกฮือของนักศึกษาที่โค่นล้มอดีตนายกรัฐมนตรีชีค ฮาซินา เมื่อเดือนสิงหาคม มูฮัมหมัด ยูนุส ผู้นำรักษาการของบังกลาเทศวัย 84 ปี กำลังนำรัฐบาลชั่วคราวรับมือกับสิ่งที่เขาเรียกว่าความท้าทายที่ยากอย่างยิ่งในการฟื้นฟูสถาบันประชาธิปไตย

"พวกเราไม่มีใครตั้งเป้าหมายที่จะอยู่ในรัฐบาลรักษาการเป็นเวลานาน" ยูนุสกล่าวในบทสัมภาษณ์ที่เผยแพร่โดยหนังสือพิมพ์ Prothom Alo

"การปฏิรูปเป็นสิ่งสำคัญ หากคุณบอกว่าให้จัดการเลือกตั้ง เราก็พร้อมที่จะจัดการเลือกตั้ง แต่การหลับหูหลับตาจัดการเลือกตั้งไปก่อนนั้นคงไม่ถูกต้อง" ผู้นำรักษาการกล่าว

การปกครองเป็นเวลา 15 ปีของฮาซีนาก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างแพร่หลาย รวมถึงการกักขังจำนวนมากและการสังหารฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของเธอด้วยการใช้อำนาจรัฐ

รายงานเบื้องต้นของสหประชาชาติระบุว่า มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 600 รายในช่วงหลายสัปดาห์ก่อนที่ฮาซีนาจะออกจากตำแหน่ง

รัฐบาลของเธอถูกกล่าวหาว่าแทรกแซงศาลและข้าราชการพลเรือนด้วยอำนาจทางการเมือง รวมถึงจัดการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใส เพื่อทำลายระบบการตรวจสอบตามระบอบประชาธิปไตย

ยูนุสกล่าวว่า เขากำลังสืบทอดระบบบริหารสาธารณะที่พังทลายลงอย่างสิ้นเชิง ซึ่งจำเป็นต้องมีการปฏิรูปครั้งใหญ่เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศกลับไปสู่ระบอบเผด็จการในอนาคต

"การปฏิรูปหมายความว่าเราจะไม่อนุญาตให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต" เขากล่าวเสริม

ยูนุสยังปฏิเสธคำวิจารณ์ในการจัดการกับนักการเมือง, เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูง และผู้ภักดีต่อฮาซีนาจำนวนมากที่ถูกจับกุมในข้อหาฆาตกรรม หลังจากที่รัฐบาลของเธอถูกโค่นอำนาจ

การจับกุมกลุ่มคนดังกล่าวกระตุ้นให้เกิดข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลรักษาการของยูนุสจะพิจารณาคดีบุคคลระดับสูงในระบอบการปกครองของฮาซีนา โดยอาศัยการเมือง

แต่ยูนุสกล่าวว่าเขาตั้งใจที่จะให้การพิจารณาคดีอาญาใดๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ถูกจับกุมนั้นปราศจากการแทรกแซงจากรัฐบาล

"เมื่อระบบตุลาการปฏิรูปแล้ว ประเด็นต่างๆ ก็จะถูกหยิบยกขึ้นมาว่าใครจะถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดี และความยุติธรรมจะถูกดำเนินการอย่างไร" เขากล่าว

นักข่าวอย่างน้อย 25 คนซึ่งถูกอ้างว่าเป็นพวกพ้องของรัฐบาลเผด็จการ ถูกจับกุมในข้อหาใช้ความรุนแรงต่อผู้ประท้วงตั้งแต่เธอถูกโค่นอำนาจ

องค์กรเฝ้าระวังสื่ออย่าง Reporters Without Borders ได้ประณามการจับกุมดังกล่าวว่าเป็น "การคุกคามทางกฎหมายอย่างเป็นระบบ"

แต่ยูนุสยืนกรานว่าเขาต้องการให้สื่อดำรงอยู่ในเสรีภาพ และมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้ตามปกติโดยไม่ต้องกลัวอำนาจใดๆ เพื่อให้สิ่งที่นำเสนอแสดงให้รู้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นในบังกลาเทศ.

เพิ่มเพื่อน