พายุ 'มิลตัน' ทวีกำลังแรงขึ้นและกลายเป็นเฮอริเคนระดับ 5 ที่อาจก่อให้เกิดหายนะได้ โดยพายุลูกนี้กำลังมุ่งหน้าสู่รัฐฟลอริดาของสหรัฐฯ และจะคุกคามพื้นที่แห่งนี้ซ้ำรอย 'เฮลีน'
พายุเฮอริเคน 'มิลตัน' เคลื่อนตัวเหนืออ่าวเม็กซิโก เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม และกลายเป็นพายุรุนแรงระดับ 5 อย่างรวดเร็ว โดยกำลังมุ่งหน้าสู่รัฐฟลอริดาของสหรัฐอเมริกา (Photo by HANDOUT / NOAA / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 8 ตุลาคม 2567 กล่าวว่า พายุเฮอริเคน 'มิลตัน' ซึ่งคาดว่าจะพัดถล่มคาบสมุทรยูคาทานของเม็กซิโก ล่าสุดกำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันออกและทวีกำลังแรงขึ้นอย่างรวดเร็วจนอยู่ในระดับ 5 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด ทำให้ต้องมีคำสั่งอพยพและออกคำเตือนเกี่ยวกับสภาพอากาศเลวร้ายบนชายฝั่งตะวันตกของรัฐฟลอริดา
ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากพายุเฮอริเคน 'เฮลีน' ซึ่งพัดถล่มฟลอริดาเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ต่างเร่งกำจัดเศษซากและสิ่งของที่อาจถูกพัดปลิวจนสร้างอันตรายต่อผู้คนและบ้านเรือน ก่อนพายุเฮอริเคน 'มิลตัน' จะมาเยือน
อาคารและบ้านเรือนในหลายพื้นที่ที่เผชิญพายุเฮลีน ยังคงอยู่ในระหว่างเก็บกวาดซากความเสียหายและยังไม่สามารถฟื้นฟูกลับมาได้ดังเดิม ในขณะที่พายุลูกใหม่กำลังจะพัดเข้ามาซ้ำแผลเดิม
ศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติสหรัฐ (NHC) ระบุว่า กำลังลมแรงสูงสุดที่พัดต่อเนื่องของพายุมิลตันอยู่ที่เกือบ 180 ไมล์ (285 กิโลเมตร) ต่อชั่วโมง
ศูนย์เฮอริเคนฯเตือนว่า มิลตันจะยังคงเป็นพายุเฮอริเคนที่อันตรายอย่างยิ่งจนกว่าจะถึงฝั่งในฟลอริดา
เจ้าหน้าที่รัฐฟลอริดาได้ออกคำสั่งอพยพประชาชนในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงบางส่วนของเมืองแทมปา ซึ่งเป็นเขตมหานครที่มีประชากรกว่า 3 ล้านคน และอาจได้รับผลกระทบโดยตรง
"หากพายุยังคงอยู่ในเส้นทางปัจจุบัน พายุลูกนี้จะเป็นพายุที่รุนแรงที่สุดที่พัดถล่มพื้นที่แทมปาในรอบกว่า 100 ปี" กรมอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติสหรัฐกล่าว
คาดการณ์ว่าจะมีคลื่นพายุซัดฝั่งตะวันตกของรัฐฟลอริดาในคืนวันอังคารหรือเช้าวันพุธ และเมืองแทมปาอาจได้รับน้ำท่วมสูงจากระดับพื้นดิน 8 ถึง 12 ฟุต (2.4 ถึง 3.6 เมตร)
รอน เดอซานทิส ผู้ว่าการรัฐฟลอริดาประกาศภาวะฉุกเฉินใน 51 จาก 67 มณฑลของรัฐ โดยกล่าวว่ามิลตันจะเคลื่อนตัวผ่านรัฐและเคลื่อนออกไปทางชายฝั่งตะวันออก
"นี่คือพายุเฮอริเคนที่รุนแรง หากประชาชนท่านใดสามารถอพยพออกจากพื้นที่ได้ ขอให้ทำโดยด่วน โปรดปฏิบัติตามทันที หากคุณอยู่ในเขตอันตราย"
คาดว่าปริมาณฝนจะอยู่ที่ระดับ 10 นิ้ว (25 เซนติเมตร) และบางจุดอาจสูงถึง 15 นิ้ว ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันอย่างรุนแรง
ในคาบสมุทรยูคาทานของเม็กซิโก ผู้คนเร่งปิดผนึกประตูและหน้าต่างกระจก, ชาวประมงลากเรือขึ้นฝั่ง และชั้นเรียนในโรงเรียนถูกสั่งยกเลิก เนื่องจากคาดการณ์ว่าจะมีฝนตกหนักและลมกระโชกแรง
ปัจจุบันในพื้นที่ตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา เจ้าหน้าที่กู้ภัยยังคงอยู่ในระหว่างการปฏิบัติงานเพื่อให้ความช่วยเหลือหลังจากเหตุการณ์พายุเฮลีนซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 230 รายในหลายรัฐ
นักวิจัยระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอาจส่งผลต่อความรุนแรงของพายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมหาสมุทรที่อุ่นขึ้นจะให้พลังงานมากขึ้นโดยเฉพาะกับพายุเฮอริเคน
ทำเนียบขาวระบุว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้รับข้อมูลสรุปเกี่ยวกับพายุเฮอริเคน 'มิลตัน' ล่วงหน้าแล้ว และเขาได้ระดมทรัพยากรและบุคลากรเพิ่มเติมเพื่อเตรียมรับมือกับผลกระทบของพายุลูกนี้.